วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประวัตินักดนตรีสากล


คาร์ล เซอร์นี เป็นคีตกวีชาวออสเตรีย เกิดที่กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2334 (ค.ศ. 1791) และเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2400 (ค.ศ. 1857)
บิดาของเซอร์นีเป็นนักเปียโนผู้เก่งกาจ ผู้ซึ่งการเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนี้ให้แก่เขา ด้วยการเรียนที่มีบิดาเป็นครู คาร์ลสามารถเล่นบทเพลงหลายบทได้อย่างขึ้นใจ และเล่นได้มีคุณภาพขนาดปรมาจารย์ทางดนตรีคนหนึ่ง ระหว่างปี พ.ศ. 2343 (ค.ศ. 1800) ถึง พ.ศ. 2346 (ค.ศ. 1803) เขาได้เป็นศิษย์ของเบโทเฟิน ซึ่งบทเรียนจากเบโทเฟิน นั้นจะเป็นประโยชน์แก่เขาในภายหลัง ความสามารถในการสอนของเขาพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถสอนบทเรียนที่สำคัญ ๆได้เมื่อเขาอายุได้เพียง 15 ปี ทำให้เขากลายเป็นครูสอนเปียโนที่เป็นที่ต้องการตัวมากคนหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ดี เขาออกแสดงคอนเสิร์ตน้อยครั้งมาก เขาพอใจที่จะประพันธ์เพลง และสอนลูกศิษย์มากกว่า ซึ่งในบรรดาลูกศิษย์ของเซอร์นีนั้น มีฟรานซ์ ลิทซ์ผู้โด่งดังรวมอยู่ด้วย
แม้ว่าบทเพลงของเซอร์นีบางบทจะไพเราะเสนาะหู คาร์ล เซอร์นีกลับเป็นที่รู้จักในฐานะผู้แต่งบทเรียนทางเทคนิคจำนวนนับไม่ถ้วน (มากกว่า 600 โอปุส) ซึ่งไม่ได้โด่งดังด้วยความไพเราะ ดูเหมือนว่าเซอร์นีจะหมกมุ่นอยู่กับการแกะเทคนิคยาก ๆ จากบทเพลงของเบโทเฟินออกมา เพื่อจะสามารถถ่ายทอดมันได้ดียิ่งขึ้นเสียมากกว่า

ประวัตินักคณิตศาสตร์


ปีทาโกรัส : Pythagoras เกิด 582 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เมืองซามอส (Samos) ประเทศกรีซ (Greece)เสียชีวิต 507 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เมืองเมตาปอนตัม (Metapontum)ผลงาน - สร้างสูตรคูณหรือตารางปีทาโกเรียน (Pythagorean Table) - ทฤษฎีบทเรขาคณิตที่ว่า "ในรูปสามเหลี่ยมมุมฉากใด ๆ กำลังสองของความยาวของด้านตรงข้ามมุมฉาก เท่ากับผลบวกของกำลังสองของความยาวของด้านประกอบมุมฉาก" - สมบัติของแสง และการมองวัตถุ - สมบัติของเสียง ปีทาโกรัส เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะของนักคณิตศาสตร์ผู้คิดค้นสูตรคูณ หรือตารางปีทาโกเรียน (Pythagorean Table)และทฤษฎีบทในเรขาคณิตที่ว่า "ในรูปสามเหลี่ยมมุมฉากใด ๆ กำลังสองของความยาวของด้านตรงข้ามมุมฉาก เท่ากับผลบวกของกำลังสองของความยาวของด้านประกอบมุมฉาก" ซึ่งทฤษฎีทั้งสองนี้เป็นที่ยอมรับ และใช้กันมาจนปัจจุบันนี้ ปีทาโกรัสเกิดเมื่อประมาณ 582 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เมืองซามอส (Samos) ประเทศกรีซ ปีทาโกรัสเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ ทฤษฎีของเขาได้นำมาพิสูจน์และพบว่าถูกต้องน่าเชื่อถือและใช้กันมาจนถึงปัจจุบันนี้ เนื่องจากปีทาโกรัสเป็นนัก ปราชญ์ที่เกิดก่อนคริสต์ศักราชถึง 500 ปี ดังนั้นประวัติชีวิตส่วนตัวของเขาจึงไม่มีการบันทึกไว้มากนัก เท่าที่มีการบันทึกไว้พบว่าเขาเป็นคนฉลาดหลักแหลม มีความสามารถ และเป็นที่นับถือของชาวเมืองมากทีเดียว เมื่อปีทาโกรัสอายุได้ 16 เขาได้เดินทางไปศึกษาวิชากับเทลีส (Thales) นักปราชญ์เอกคนแรกของโลก แม้ว่าเทลีสจะเป็นผู้ที่มีความรู้กว้างขวางในหลายสาขาวิชา และได้ถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นให้กับปีทาโกรัสจนหมดสิ้น แต่ปีทาโกรัสก็ยังต้องการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอีก ดังนั้นในปี 529 ก่อนคริสต์ศักราช ปีทาโกรัสจึงออกเดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ เช่น อาระเบีย เปอร์เซีย อินเดีย และอียิปต์ตามลำดับ เขาได้กลับจากการเดินทางกลับเกาะซามอส และพบว่าเกาะซามอสได้อยู่ในความปกครองของโพลีเครตีส (Polycrates) และอีกส่วนหนึ่งได้ตกเป็นของเปอร์เซีย เมื่อปีทาโกรัสเห็นเช่นนั้น จึงเดินทางออกจากเกาะซามอสไปอยู่ที่เมืองโครตอน (Croton) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอิตาลี และที่เมืองโครตอนนี้เองปีทาโกรัสได้ตั้งโรงเรียนขึ้น โรงเรียนของปีทาโกรัสจะสอนเน้นหนักไปในเรื่องของปรัชญาคณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ปีทาโกรัสได้กล่าวว่า "คณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานของทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าไม่มีคณิตศาสตร์แล้ว ทุกอย่างก็จะไม่เกิดขึ้น" ข้อเท็จจริงข้อนี้ถือว่าถูกต้องที่สุด เพราะไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง การคำนวณหาระยะทางหรือแม้กระทั่งการประดิษฐ์เครื่องใช้ การค้นพบเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ของเขา ได้แก่ การพบเลขคี่ โดยเลข 5 เป็นเลขคี่ตัวแรกของโลกและเลขยกกำลังสอง นอกจากนี้ปีทาโกรัสยังแบ่งคณิตศาสตร์ออกเป็น 2 สาขา คือ 1. เลขคณิต ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเลข 2. เรขาคณิต เป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปทรงต่าง ๆ เช่น สี่เหลี่ยม วงกลม สามเหลี่ยม และหกเหลี่ยม เป็นต้น ซึ่งวิชานี้มีประโยชน์อย่างมากในทางสถาปัตยกรรม และทฤษฎีบทเรขาคณิตที่มีชื่อเสียงที่สุดของปีทาโกรัสก็คือ "ในรูปสามเหลี่ยมมุมฉากใด ๆ กำลังสองของความยาวของด้านตรงข้ามมุมฉาก เท่ากับผลบวกของกำลังสองของความยาวของด้านประกอบ มุมฉาก" โรงเรียนของปีทาโกรัสมีผู้ให้ความสนใจส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนจำนวนมาก ทั้งพระมหากษัตริย์ ขุนนางราชสำนักและพ่อค้าคหบดีที่มั่งคั่ง ผู้ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ได้มีการตั้งชุมนุม โดยใช้ชื่อว่า "ชุมนุมปีทาโกเรียน (Pythagorean)" ซึ่งผู้ที่จะสมัครเข้าชุมนุมปีทาโอกเรียนจะต้องมีความรู้ด้านคณิตศาสตร์เป็นอย่างดี อีกทั้งจะไม่เผยแพร่ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ให้กับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของชุมนุมชุมนุมปีทาโกเรียนมีบทบาทอย่างมากในเรื่องของวิทยาศาสตร์ในยุคนั้น อีกทั้งเป็นชุมนุมแรกที่มีความเชื่อว่า โลกกลมและไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาลอีกทั้งต้องโคจรอีกด้วย ปีทาโกรัสเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับโลกกลม และหมุนรอบตัวเองรวมถึงดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ ก็หมุนรอบตัวเองเช่นกัน ซึ่งทฤษฎีนี้ในเวลาต่อมานักดาราศาสตร์อย่างโคเปอร์นิคัส และกาลิเลโอ ได้นำมาพิสูจน์แล้วพบว่าทฤษฎีนี้ถูกต้อง ไม่เพียงแต่งานด้านคณิตศาสตร์เท่านั้นที่ปิทาโกรัสให้ความสนใจ เขายังมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องแสงด้วย การค้นคว้าของปีทาโกรัสทำให้เขารู้ความจริงว่า มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นแสงสว่างได้ เพราะแสงสว่างเป็นเพียงอนุภาคเล็ก ๆ เท่านั้น แต่แสงสว่างเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เรามองเห็นวัตถุ เนื่องจากแสงตกกระทบไปที่วัตถุ ทำให้วัตถุนั้นสะท้อนแสงมากระทบกับตาเราดังเช่นที่เราสามารถมองเห็นดวงจันทร์มีแสง ก็เพราะแสงจากดวสงอาทิตย์ที่ส่องไปยังดวงจันทร์และสะท้อนกลับมายังโลกทั้งที่ดวงจันทร์ไม่มีแสง แต่เราก็สามารถมองเห็นดวงจันทร์ได้ นอกจากเรื่องแสงแล้ว ปิทาโกรัสได้ค้นพบเกี่ยวกับเรื่องเสียงด้วย การค้นพบของเขาสรุปได้ว่าเสียงเกิดจากการสั่นสะเทือนของวัตถุ การพบความจริงข้อนี้เนื่องจากวันหนึ่งเขาได้เดินผ่านร้านตีเหล็กแห่งหนึ่ง ปีทาโกรัสได้ยินเสียงที่เกิดจากช่างตีเหล็กใช้ค้อนตีแผ่นเหล็กแผ่นเหล็กนั้นสั่นสะเทือน ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดเสียง ปีทาโกรัสเสียชีวิตเมื่อประมาณ 507 ก่อนคริสต์ศักราช ที่เมืองเมตาปอนตัม (Metapontum)

ประวัตินักวิทยาศาสตร์


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาวิทยาศาสตร์ไทย
วิลเลี่ยม ฮาร์วี่ : William Harvey

เกิด วันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1578 ที่เมืองฟอล์คสโตน (Flockstone) ประเทศอังกฤษ (England)เสียชีวิต วันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1657 ที่กรุงลอนดอน (London) ประเทศอังกฤษ (England)ผลงาน - ค้นพบระบบการไหลเวียนโลหิต (Blood Circulation)
ระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายมนุษย์ เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ แต่ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์หรือนายแพทย์ท่านใดรู้ความจริงที่ว่า เลือดเดินทางอย่างไรในร่างกาย อีกทั้งหน้าที่ของหัวใจก็เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อประมาณปี 600 ก่อนคริสต์ศักราชนายแพทย์ชาวกรีก คลาดิอุส กาเลน (Clandius Galen) ได้ศึกษาและอธิบายว่า ระบบโลหิตในร่างกายมนุษย์มีลักษณะคล้ายน้ำขึ้นน้ำลง ส่วนหัวใจมีหน้าที่ในการทำให้เลือดอุ่น ส่วนหลอดเลือดแดง และหลอดเลือดดำไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้องกันเลย เพราะฉะนั้นวิธีการรักษาเมื่อเลือดมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำได้โดยการผ่าตัดนำเลือดดำออกมา ความเชื่อเหล่านี้ผิด แต่คนทั่วไปรวมถึงแพทย์ก็ยังคงให้ความเชื่อถือ จนกระทั่งวิลเลี่ยม ฮาร์วี่ นายแพทย์ชาวอังกฤษได้ศึกษาค้นคว้า และพบความจริงเกี่ยวกับระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายมนุษย์ ทำให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แม้ว่าผลงานของเขาเป็นเรื่องจริง แต่นักวิทยาศาสตร์และนายแพทย์ส่วนใหญ่ ไม่เชื่อถือ และต่อต้านเขาอีกด้วย ทำให้เขาได้รับความลำบาก แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังไม่ยอมแพ้ และในที่สุดสิ่งที่ฮาร์วี่ค้นพบก็ได้รับการยอมรับ ฮาร์วี่เกิดเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1578 ที่เมืองฟอล์คสโตน ประเทศอังกฤษ ในครอบครัวที่ร่ำรวย บิดาของเขาเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองชื่อว่า โทมัส ฮาร์วี่ (Thomas Harvey) ทำให้เขามีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี หลังจากที่ฮาร์วี่สำเร็จการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนแคนเทอเบอรี่ แกรมมา (Canterbury Gramma School) ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ จากนั้นเขาได้ศึกษาวิชาแพทย์ในมหาวิทยาลัยเคมบริจด์ (Cambridge University) หลังจากจบวิชาแพทย์ในปี ค.ศ. 1597 ฮาร์วี่ได้เข้าเรียนต่อในระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยปาดัว (Padua University) ประเทสอิตาลี ระหว่างที่เขาศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยปาดัว เขามีโอกาสได้พบกับศาสตราจารย์ฮีโรนิมุส เฟบริซิอุส (Heronimus Fabrisius) ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ฮาร์วี่ค้นพบระบบการไหลเวียนโลหิต หลังจากที่ฮาร์วี่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยดาปัวแล้ว เขาได้เข้าทำงานเป็นแพทย์ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลเซนต์บาร์โทโลมิวกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ฮาร์วี่เป็นแพทย์ที่มีความสามารถ และเป็นที่ชื่นชอบของผู้ป่วยมาก คนไข้ของเขามีตั้งแต่คนร่ำรวยมหาศาล จนถึงยากจนเข็ญใจ ทำให้ชื่อเสียงของเขาเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ต่อมาเขาได้รับเชิญเข้าร่มเป็นสมาชิกของแพทยสภาในปี ค.ศ. 1607 ต่อมาในปี ค.ศ. 1618 ฮาร์วี่ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 (King James I) เมื่อพระเจ้าเจมส์เสด็จสวรรคต พระเจ้าชาร์ลที่ 1 (King Charles I) ขึ้นครองราชสมบัติสืบแทน ทรงแต่งตั้งให้ฮาร์วี่เป็นแพทย์ ประจำพระองค์ ระหว่างที่ฮาร์วี่ทำงานในตำแหน่งแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 เขาได้ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับระบบการไหลเวียนของโลหิต โดยใช้เวลาในการค้นคว้านานถึง 10 ปี ในการบันทึก สังเกต และศึกษาจากการผ่าตัดผู้ป่วยมากกว่า 100 ราย และในที่สุดเขาสามารถค้นพบเกี่ยวกับระบบการไหลเวียนโลหิตในปี ค.ศ. 1628 และในปีเดียวกัน ฮาร์วี่ไดี้พิมพ์ผลงานของเขาเกี่ยวกับระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายมนุษย์ ลงในหนังสือชื่อว่า การทำงานของหัวใจ และระบบการไหลเวียนของเลือดในร่างกายสัตว์ ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจว่ามีหน้าที่ในการสูบฉีดโลหิต ลักษณะของหัวใจคล้ายกับถุงกล้ามเนื้อที่เต้นอยู่ตลอดเวลา และการเต้นของหัวใจก็ทำให้เกิดการไหลเวียนของโลหิต โดยมีเลือดแดงที่ไหลออกจากหัวใจไปหล่อเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย จากนั้นเลือดแดงจะกลายเป็นเลือดดำ และกลับขึ้นมาสู่หัวใจอีกครั้งหนึ่งเลือดจะถูกส่งเข้าไปยังห้องหัวใจซีกขวาด้านบนก่อน จากนั้นจึงไหลเข้าสู่ห้องหัวใจซีกขวาด้านล่าง และส่งออกจากห้องนี้ไปสู่ปอด ซึ่งมีหน้าที่นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbondioxide) ในเลือดออกไป แล้วนำก๊าซออกซิเจนที่หายใจเข้าไปแทนที่ เมื่อปอดฟอกเลือดดำให้เป็นเลือดแดงแล้วจะถูกส่งกลับไปยังห้องหัวใจซีกซ้ายด้านบนอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจะถูกส่งไปยังห้องหัวใจซีกซ้ายด้านล่าง ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเลือดไปเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย และจะเป็นระบบเช่นนี้เรื่อยไป เพราะฉะนั้นเมื่อใดที่หัวใจหยุดเต้นก็เท่ากับว่าหยุดการสบฉีดโลหิต เลือดในร่างกายก็จะกลายเป็นเลือดดำ ร่างกายไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้และเสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้แล้วฮาร์วี่ยังพบหน้าที่ของลิ้นหัวใจ ซึ่งอยู่ระหว่างห้องหัวใจต่าง ๆ ว่ามีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับไป ทางเดิม หัวใจลักษณะนี้จะมีอยู่ในสัตว์ที่มีปอด หรือหายใจข้า - อออก ทางจมูกเท่านั้น ส่วนสัตว์น้ำหรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ซึ่งหายใจเข้า - ออก ทางเหงือก ทางผิวหนัง หรือวิธีการอื่น ๆ สัตว์เหล่านี้จะใช้ห้องหัวใจเพียงห้องเดียวทางด้านซ้าย ก็เพียงพอต่อการสูบฉีด โลหิต เมื่อฮาร์วี่เผยแพร่ผลงานออกไป ปรากฏว่าคนทั่วไปไม่เห็นด้วย รวมถึงวงการแพทย์ก็ต่อต้านอย่างหนัก คนไข้ของเขาบางคนถึงกับเลิกรักษากับเขาเลยทีเดียว จนกระทั่งเขาเสียชีวิตก็ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนเชื่อถือในสิ่งที่เขาค้นพบได้ แต่ถึงอย่างนั้นการค้นพบของเขาก็มิได้สูญเปล่า เพราะหลังจากนั้นไม่นานเมื่ออังตวน แวน เลเวนฮุค (Anton Van Leeuwenhoek) สามารถประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ได้สำเร็จ วงการแพทย์จึงสามารถพิสูจน์ได้ว่าระบบการไหลเวียนโลหิตของมนุษย์นั้นเป็นไปอย่างที่ฮาร์วี่กล่าวไว้ ฮาร์วี่ทำงานเป็นแพทย์ประจำราชสำนักอยู่นานกว่า 25 ปี เขาลาออกจากหน้าที่ในปี ค.ศ. 1646 เนื่องจากชราภาพมากแล้ว และ เสียชีวิตในปีต่อมาที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1657


ประวัติปีใหม่


วันปีใหม่ มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนียเริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทิน โดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือนก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก 4 ปีต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไข อีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้นจนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ โยซิเยนิส มาปรับปรุง ให้ปีหนึ่งมี 365 วัน ในทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า อธิกสุรทินเมื่อเพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันในทุก ๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทินและในวันที่ 21 มีนาคมตามปีปฏิทินของทุก ๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตรงทิศตะวันตกเป๋ง วันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลาเท่ากับ 12 ชั่วโมง เท่ากัน เรียกว่า วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม (Equinox in March)แต่ในปี พ.ศ. 2125 วัน Equinox in March กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดังนั้น พระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป 10 วันจากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (เฉพาะในปี 2125 นี้) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่า ปฏิทินเกรกอเรี่ยน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมาความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่ไทย ในอดีต วันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้งคือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน 2 ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นใน กรุงเทพฯเป็นครั้งแรกการจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆมา และในปี พ.ศ.2479 ก็ได้มีการ จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็น วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไปเหตุผลที่ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม ก็คือ 1. ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ 2. เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา 3. ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก 4. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่ 1. การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ 2. การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร 3. การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีตให้ดีขึ้นกิจกรรมใน วันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก อวยพรซึ่งกันและกัน หรืออาจจะส่งการ์ดบัตรอวยพร ของขัวญไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรับพร และสรงน้ำพระพุทธรูป ประดับธงชาติ และจะเตรียมทำความสะอาดบ้าน และที่พักอาศัย เพลงวันปีใหม่ (เพลงพรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ในหลวง) ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชคำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริสวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดีข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรีโปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัยให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัยให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดีตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ เกี่ยวกับ เพลงพรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ พรปีใหม่ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 เมื่อเสด็จนิวัตพระนคร และประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่ แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง "พรปีใหม่" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495

ประวัติฟ้อนเล็บ


ฟ้อนเล็บ
ฟ้อนเล็บ แต่เดิมเรียก “ฟ้อนเล็บ” ด้วยเห็นว่าเป็นการฟ้อนที่เป็นเอกลักษณ์ของ “คนเมือง” ซึ่งหมายถึงคนในถิ่นล้านนาที่มีเชื้อสายไทยวน และเนื่องจากการเป็นการแสดงที่มักปรากฏ ในขบวนแห่ครัวทานของวัดจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฟ้อนแห่ครัวทาน” ต่อมามีการสวมเล็บที่ทำด้วยทองเหลืองทั้ง 8 นิ้ว (ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ) จึงได้ชื่อว่า “ฟ้อนเล็บ”
ท่าฟ้อน
การฟ้อนชนิดนี้มีมาแต่ดั้งเดิม คณะศรัทธาของแต่ละวัดมักมีครูฝึกสืบทอดต่อกันมา เมื่อถึงฤดูกาลที่จะมีงานปอยหลวง ซึ่งเป็นงานฉลองศาสนสถาน มักมีการฝึกซ้อม เด็กสาวในหมู่บ้านเพื่อแสดงในงานดังกล่าวเสมอ โดยที่รูปแบบกระบวนและลีลาท่าฟ้อนไม่ได้กำหนดตายตัว แต่ละครูหรือแต่ละวัดอาจแตกต่างกันไป ในสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้มีการปรับปรุงและประดิษฐ์ท่าฟ้อนให้ดูอ่อนช้อยงดงามยิ่งขึ้น และบุคคล ผู้หนึ่งซึ่งเคยได้รับการถ่ายทอดจากคุ้มเจ้าหลวงได้แก่ ครูสัมพันธ์ โชตนา
ในโอกาสที่ครูสัมพันธ์ได้เข้าไปถ่ายทอดศิลปะการฟ้อนชนิดนี้แก่วิทยาลัย นาฏศิลปเชียงใหม่ ท่านได้กำหนดท่าฟ้อนไว้ 17 ท่าดังนี้1. จีบส่งหลัง 2. กลางอัมพร 3. บิดบัวบาน4. จีบสูงส่งหลัง 5. บัวชูฝัก 6. สะบัดจีบ7. กราย 8. ผาลาเพียงไหล่ 9. สอดสร้อย10. ยอดตอง 11. กินนรรำ 12. พรหมสี่หน้า13. กระต่ายต้องแร้ว 14. หย่อนมือ 15. จีบคู่งอแขน16. ตากปีก 17. วันทาบัวบานท่ารำต่างๆ ดังกล่าว อาจมีการเพิ่มท่า ตัดตอน หรือลำดับท่าก่อนหลังตามที่ครูจะกำหนด
เครื่องแต่งกาย
การแต่งกายแต่เดิมจะนุ่งผ้าซิ่น สวมเสื้อแขนยาวทรงกระบอกคอกลม หรือคอจีนผ่าอก เกล้าผมมวยโดยขมวดมวยด้านท้ายทอย ทัดดอกไม้ประเภทดอกเอื้อง จำปา กระดังงา หางหงส์ หรือลีลาวดี สวมเล็บทั้งแปดนิ้ว ต่อมามีการ ดัดแปลงให้สวยงามโดยประดับลูกไม้ หรือระบายที่คอเสื้อ ห่มสไบเฉียงจากบ่าซ้ายไปเอวขวาทับด้วยสังวาล ติดเข็มกลัด สวมกำไลข้อมือ กำไลเท้า เกล้าผมแบบญี่ปุ่น ทัดดอกไม้หรืออาจเพิ่มอุบะห้อยเพื่อความสวยงาม
เครื่องดนตรี เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบจังหวะในการฟ้อน จะใช้วงกลอง “ตึ่งโนง” ซึ่งประกอบด้วย1. กลองแอว 2. กลองตะหลดปด3. ฆ้องอุ้ย(ขนาดใหญ่) 4. ฆ้องโหย้ง(ขนาดกลาง)5. ฉาบใหญ่ 6. แนหน้อย7. แนหลวง
เพลงที่ใช้บรรเลง
สำหรับเพลงที่ใช้บรรเลง ก็แล้วแต่ผู้เป่าแนจะกำหนดอาจใช้เพลงแหย่ง เพลงเชียงแสน เพลงหริภุญชัยหรือลาวเสี่ยงเทียน แต่ส่วนใหญ่จะใช้เพลงแหย่งเพราะช่างฟ้อนคุ้นกับเพลงนี้มากกว่าเพลงอื่น
โอกาสที่แสดง
เดิมจะฟ้อนในงานฉลองสมโภช เพื่อนำขบวนทานหรือเป็นมหรสพในงาน ปัจจุบันมีการแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชม จึงมีปรากฏให้เห็นตามโรงแรม ห้องอาหารโดยทั่วไป
อนึ่งการฟ้อนในลักษณะเดียวกันนี้ ถ้าถอดเล็บออกและขณะที่ฟ้อนก็ถือเทียนไปด้วย เรียกว่า “ฟ้อนเทียน” การฟ้อนโดยลักษณาการนี้มีความเป็นมาว่าในสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี มีการแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินฯ เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2469 ในงานถวายพระกระยาหารค่ำ ณ พลับพลาที่ประทับ งานนี้พระราชชายาฯ ทรงให้ช่างฟ้อนเล็บถอดเล็บทองเหลืองออก แล้วให้ถือเทียนทั้งสองมือ เวลาออกไปฟ้อนก็จุดเทียนให้สว่าง การฟ้อนครั้งนั้นสวยงามเป็นที่ประทับใจ จึงเป็นต้นเหตุว่า หากมีการฟ้อนชนิดนี้ถ้าเป็นเวลากลางวันให้สวมเล็บแต่ถ้าเป็นกลางคืนให้ถือเทียน และการที่ฟ้อนเทียนนี่เองเป็นเหตุให้ใช้เพลง “ลาวเสี่ยงเทียน” ประกอบการฟ้อน
ความเป็นเอกลักษณ์
หากจะถามถึงความเป็นเอกลักษณ์ของฟ้อนเล็บแล้ว ถ้าจะตอบว่าคือท่าฟ้อน และการแต่งกายยังตอบไม่ได้ เต็มคำเพราะถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ค่อนข้างมาก หรือตอบว่าอยู่ที่เล็บก็ยังไม่ใช่เพราะการรำมโนราห์ ของภาคใต้ก็สวมเล็บ การฟ้อนผู้ไทของจังหวัดสกลนครก็สวมเล็บเช่นกัน แม้จะมีพู่ไหมพรมสีแดงตรงปลายเล็บก็ตาม และคำตอบที่น่าจะใกล้เคียงได้แก่ เครื่องดนตรีและเพลงประกอบการฟ้อน และที่น่าจะถูกต้องมากที่สุด เห็นจะได้แก่ ภาพรวมทั้งหมด เพราะใครพบเห็นฟ้อนชนิดนี้ที่ไหน ก็ต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นฟ้อนเล็บ ซึ่งเป็นการแสดงที่อ่อนช้อยงดงาม ตามแบบฉบับของคนเมืองชาวล้านนาโดยแท้

ประวัติสุโขทัย


ประวัติศาสตร์ไทยก่อนสมัยสุโขทัย
คำว่าไทย เป็นชื่อรวมของชนเผ่ามองโกล ซึ่งแบ่งแยกออกเป็นหลายสาขา เช่น ไทยอาหม ในแคว้นอัสสัม ไทยใหญ่ ไทยน้อย ไทยโท้ ในแคว้นตั้งเกี๋ย อุปนิสัยปกติมักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักสันติ และความเป็นอิสระ ความเจริญของชนชาติไทยนี้ สันนิษฐานว่า มีอายุไร่เรี่ยกันมากับความเจริญของ ชาวอียิปต์บาบิโลเนีย และอัสสิเรียโบราณ ไทยเป็นชาติที่มีความเจริญมาก่อนจีนและก่อนชาวยุโรป ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพวกอนารยชนอยู่ เป็นระยะเวลา ประมาณ ๕,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว ที่ชนชาติไทยได้เคยมีที่ทำกินเป็นหลักฐาน มีการปกครองเป็นปึกแผ่น และมีระเบียบแบบแผนอยู่ ณ ดินแดนซึ่งเป็นประเทศจีนในปัจจุบัน เมื่อประมาณ ๓,๕๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราช ชนชาติไทยได้อพยพข้ามเทือกเขาเทียนชาน เดินทางมาจนถึงที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ ณ บริเวณต้นแม่น้ำฮวงโห และแม่น้ำแยงซีเกียง และได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ บริเวณที่แห่งนั้น แล้วละเลิกอาชีพเลี้ยงสัตว์แต่เดิม เปลี่ยนมาเป็นทำการกสิกรรม ความเจริญก็ยิ่งทวีมากขึ้น มีการปกครองเป็นปึกแผ่น และได้ขยายที่ทำกินออกไปทางทิศตะวันออกตามลำดับ ในขณะที่ชนชาติไทยมีความเป็นปึกแผ่นอยู่ ณ ดินแดนและมีความเจริญดังกล่าว ชนชาติจีนยังคงเป็นพวกเลี้ยงสัตว์ ที่เร่ร่อนพเนจรอยู่ตามแถบทะเลสาบแคสเบียน ต่อมาเมื่อ ประมาณกว่าหนึ่งพันปีที่ไทยอพยพเข้ามาอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำเรียบร้อยแล้ว ชนชาติจีนจึงได้อพยพเข้ามาอยู่ในลุ่มน้ำดังกล่าวนี้บ้าง และได้พบว่าชนชาติไทยได้ครอบครอง และมีความเจริญอยู่ก่อนแล้ว ในระหว่างระยะเวลานั้น เราเรียกตัวเองว่าอ้ายลาว หรือพวกมุง ประกอบกันขึ้นเป็นอาณาจักรใหญ่ ถึงสามอาณาจักร ด้วยกันคือ อาณาจักรลุง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือบริเวณต้นแม่น้ำเหลือง (หวงโห)
อาณาจักรปา ตั้งอยู่ทางใต้ลงมาบริเวณพื้นที่ทางเหนือของมณฑลเสฉวน อาณาจักรปาจัดว่าเป็นอาณาจักรที่สำคัญกว่าอาณาจักรอื่น อาณาจักรเงี้ยว ตั้งอยู่ทางตอนกลางของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ทั้งสามอาณาจักรนี้ มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ประชากรก็เพิ่มมากขึ้น จึงได้แผ่ขยายอาณาเขตออกมาทางทิศตะวันออก โดยมีแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นแกนหลัก จากความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ถิ่นที่อยู่ใหม่ มีอิทธิพลทำให้เปลี่ยนแปลงอุปนิสัยเดิม ตั้งแต่ครั้งยังทำการเลี้ยงสัตว์ ที่โหดเหี้ยม และชอบรุกราน มาเป็นชนชาติที่มีใจกว้างขวาง รักสงบพอใจความสันติ อันเป็นอุปนิสัยที่เป็นมรดกตกทอดมาถึงไทยรุ่นหลังต่อมา
เหตุที่ชนชาติจีนเข้ามารู้จักชนชาติไทยเป็นครั้งแรก เมื่อแหล่งทำมาหากินทางแถบทะเลสาบแคสเบียนเกิดอัตคัตขาดแคลน ทำให้ชนชาติจีนต้องอพยพเคลื่อนย้ายมาทางทิศตะวันออก เมื่อประมาณ ๒,๕๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราช ชนชาติจีนได้อพยพข้ามเทือกเขาเทียนชาน ที่ราบสูงโกบี จนมาถึงลุ่มแม่น้ำไหว จึงได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ที่นั้น และมีความเจริญขึ้นตามลำดับ ปรากฎมีปฐมกษัตริย์ของจีนชื่อ ฟูฮี ได้มีการสืบวงค์กษัตริย์กันต่อมา แต่ขณะนั้นจีนกับไทยยังไม่รู้จักกัน ล่วงมาจนถึงสมัยพระเจ้ายู้ จีนกับไทยจึงได้รู้จักกันครั้งแรก โดยมีสาเหตุมาจากที่พระเจ้ายู้ ได้มีรับสั่งให้มีการสำรวจ พระราชอาณาเขตขึ้น ชาวจีนจึงได้มารู้จักชาวไทย ได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรอ้ายลาว จึงยกย่องนับถือถึงกับให้สมญาอาณาจักรอ้ายลาวว่า อาณาจักรไต๋ ซึ่งมีความหมายว่าอาณาจักรใหญ่ สันนิษฐานว่า เป็นสมัยแรกที่จีนกับไทยได้แลกเปลี่ยนสัมพันธไมตรีต่อกัน
อาณาจักรอ้ายลาวถูกรุกราน เมื่อประมาณ ๓๙๐ ปี ก่อนพุทธศักราช พวกจีนได้ถูกชนชาติตาดรุกราน พวกตาดได้ล่วงเลยเข้ามารุกรานถึงอาณาจักรอ้ายลาวด้วย อาณาจักรลุงซึ่งอยู่ทางเหนือ ต้องประสบภัยสงครามอย่างร้ายแรง ในที่สุดก็ต้องทิ้งถิ่นฐานเดิม อพยพลงมาทางนครปา ซึ่งอยู่ทางใต้ ปล่อยให้พวกตาดเข้าครอบครองนครลุง ซึ่งมีอาณาเขตประชิดติดแดนจีน ฝ่ายอาณาจักรจีนในเวลาต่อมาเกิดการจลาจล พวกราษฎรพากันอพยพหนีภัยสงคราม เข้ามาในนครปาเป็นครั้งแรก เมื่ออพยพมาอยู่กันมากเข้า ก็มาเบียดเบียนชนชาติไทยในการครองชีพ ชนชาติไทยทนการเบียดเบียนไม่ได้ จึงได้อพยพจากนครปามาหาที่ทำกินใหม่ทางใต้ครั้งใหญ่ เมื่อประมาณ ๕๐ ปี ก่อนพุทธศักราช แต่อาณาจักรอ้ายลาวก็ยังคงอยู่จนถึงประมาณ พ.ศ. ๑๗๕ อาณาจักรจีนเกิดมีแคว้นหนึ่ง คือ แคว้นจิ๋น มีอำนาจขึ้นแล้วใช้แสนยานุภาพเข้ารุกรานอาณาจักรอ้ายลาว นับเป็นครั้งแรกที่ไทยกับจีนได้รบพุ่งกัน ในที่สุดชนชาติไทยก็เสียนครปาให้แก่จีน เมื่อ พ.ศ.๒๐๕ ผลของสงครามทำให้ชาวนครปาที่ยังตกค้างอยู่ในถิ่นเดิม อพยพเข้ามาหาพวกเดียวกันที่อาณาจักรเงี้ยว ซึ่งขณะนั้นยังเป็นอิสระอยู่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของจีน แต่ฝ่ายจีนยังคงรุกรานลงทางใต้สู่อาณาจักรเงี้ยวต่อไป ในที่สุดชนชาติไทยก็เสียอาณาจักรเงี้ยวให้แก่ พระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ เมื่อปี พ.ศ. ๓๒๘
อาณาจักรเพงาย ตั้งแต่ พ.ศ. ๔๐๐ - ๖๒๑ เมื่ออาณาจักรอ้ายลาวถูกรุกรานจากจีน ทั้งวิธีรุกเงียบ และรุกรานแบบเปิดเผยโดยใช้แสนยานุภาพ จนชนชาติไทยอ้ายลาวสิ้นอิสระภาพ จึงได้อพยพอีกครั้งใหญ่ แยกย้ายกันไปหลายทิศหลายทาง เพื่อหาถิ่นอยู่ใหม่ ได้เข้ามาในแถบลุ่มแม่น้ำสาละวิน ลุ่มแม่น้ำอิรวดี บางพวกก็ไปถึงแคว้นอัสสัม บางพวกไปยังแคว้นตังเกี๋ย เรียกว่าไทยแกว บางพวกเข้าไปอยู่ที่แคว้นฮุนหนำ พวกนี้มีจำนวนค่อนข้างมาก ในที่สุดได้ตั้งอาณาจักรขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๔๐๐ เรียกว่าอาณาจักรเพงาย ในสมัยพระเจ้าขุนเมือง ได้มีการรบระหว่างไทยกับจีน หลายครั้งผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ สาเหตุที่รบกันเนื่องจากว่า ทางอาณาจักรจีน พระเจ้าวู่ตี่ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และได้จัดสมณทูตให้ไปสืบสวนพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดีย แต่การเดินทางของสมณทูตต้องผ่านเข้ามาในอาณาจักรเพงาย พ่อขุนเมืองไม่ไว้ใจจึงขัดขวาง ทำให้กษัตริย์จีนขัดเคืองจึงส่งกองทัพมารบ ผลที่สุดชาวเพงายต้องพ่ายแพ้ เมื่อ พ.ศ. ๔๕๖ ต่อมาอาณาจักรจีนเกิดการจลาจล ชาวนครเพงายจึงได้โอกาสแข็งเมือง ตั้งตนเป็นอิสระ จนถึง พ.ศ. ๖๒๑ ฝ่ายจีนได้รวมกันเป็นปึกแผ่นและมีกำลังเข้มแข็ง ได้ยกกองทัพมารุกรานไทย สาเหตุของสงครามเนื่องจากพระเจ้ามิ่งตี่ กษัตริย์จีนได้วางแผนการขยายอาณาเขต โดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ โดยได้ส่งสมณฑูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังประเทศใกล้เคียง สำหรับนครเพงายนั้น เมื่อพระพุทธศาสนาแผ่ไปถึงพ่อขุนลิวเมา ซึ่งเป็นหัวหน้าก็เลื่อมใส ชาวนครเพงายโดยทั่วไปก็ยอมรับนับถือเป็นศาสนาประจำชาติ ด้วยต่างก็ประจักษ์ในคุณค่าของพระธรรมอันวิเศษยอดเยี่ยม นับว่าสมัยนี้เป็นสมัยสำคัญ ที่พระพุทธศาสนาได้แผ่เข้ามาถึงอาณาจักรไทย คือ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๖๑๒ เมื่อเป็นเช่นนั้นฝ่ายจีนจึงถือว่าไทยต้องเป็นเมืองขึ้นของจีนด้วย จึงได้ส่งขุนนางเข้ามาควบคุมการปกครองนครเพงาย เมื่อทางไทยไม่ยอมจึงเกิดผิดใจกัน ฝ่ายจีนได้กรีฑาทัพใหญ่เข้าโจมตีนครเพงาย นครเพงายจึงเสียอิสระภาพ เมื่อ พ.ศ. ๖๒๑
อาณาจักรน่านเจ้า (พ.ศ. ๑๑๙๓ - ๑๘๒๓) หลังจากนครเพงายเสียแก่จีนแล้ว ก็ได้มีการอพยพครั้งใหญ่กันอีกครั้งหนึ่ง ลงมาทางทิศใต้และทางทิศตะวันตก ส่วนใหญ่มักเข้ามาตั้งอยู่ตามลุ่มแม่น้ำ ในเวลาต่อมาได้เกิดมีเมืองใหญ่ขึ้นถึง ๖ เมือง ทั้ง ๖ เมืองต่างเป็นอิสระแก่กัน ประกอบกับในห้วงเวลานั้นกษัตริย์จีนกำลังเสื่อมโทรม แตกแยกออกเป็นสามก๊ก ก๊กของเล่าปี่ อันมีขงเบ้งเป็นผู้นำ ได้เคยยกมาปราบปรามนครอิสระของไทย ซึ่งมีเบ้งเฮกเป็นหัวหน้าได้สำเร็จ ชาวไทยกลุ่มนี้จึงต้องอพยพหนีภัยจากจีน ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๘๕๐ พวกตาดได้ยกกำลังเข้ารุกราน อาณาจักรจีนทางตอนเหนือ เมื่อตีได้แล้วก็ตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ทางเหนือมี ปักกิ่งเป็นเมืองหลวง ส่วนอาณาจักรทางใต้ กษัตริย์เชื้อสายจีนก็ครองอยู่ที่เมืองน่ำกิง ทั้งสองพวกได้รบพุ่งกันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ ทำให้เกิดการจลาจลไปทั่วอาณาจักร ผลแห่งการจลาจลครั้งนั้น ทำให้นครอิสระทั้ง ๖ ของไทย คือ ซีล่ง ม่งเส ล่างกง มุ่งซุย เอี้ยแซ และเท่งเซี้ยง กลับคืนเป็นเอกราช นครม่งเสนับว่าเป็นนครสำคัญ เป็นนครที่ใหญ่กว่านครอื่นๆ และตั้งอยู่ต่ำกว่านครอื่น ๆ จึงมีฐานะมั่นคงกว่านครอื่น ๆ ประกอบกับมีกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ และเข้มแข็ง คือ พระเจ้าสินุโล พระองค์ได้รวบรวมนครรัฐทั้ง ๖ เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันรวมเรียกว่า อาณาจักรม่งเส หรือ หนองแส จากนั้นพระองค์ได้วางระเบียบการปกครองอาณาจักรอย่างแน่นแฟ้น พระองค์ได้ดำเนินนโยบายผูกมิตรกับจีน เพื่อป้องกันการรุกราน เนื่องจากในระยะนั้นไทยกำลังอยู่ในห้วงเวลาสร้างตัวจนมีอำนาจ เป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีอาณาเขตประชิดติดกับจีน ทางฝ่ายจีนเรียกอาณาจักรนี้ว่า อาณาจักรน่านเจ้า แม้ว่าอาณาจักรน่านเจ้าจะสิ้นรัชสมัยพระเจ้าสินุโลไปแล้วก็ตาม พระราชโอรสของพระองค์ซึ่งสืบราชสมบัติ ต่อมาก็ทรงพระปรีชาสามารถ นั่นคือพระเจ้าพีล่อโก๊ะ พระองค์ได้ทำให้อาณาจักรน่านเจ้าเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม อาณาเขตก็กว้างขวางมากขึ้นกว่าเก่า งานชิ้นสำคัญของพระองค์อย่างหนึ่งก็คือ การรวบรวมนครไทยอิสระ ๕ นครเข้าด้วยกัน และการเป็นสัมพันธไมตรีกับจีน ในสมัยนี้อาณาจักรน่านเจ้า ทิศเหนือจดมณฑลฮุนหนำ ทิศใต้จดมณฑลยูนาน ทิศตะวันตกจดธิเบต และพม่า และทิศตะวันออกจดมณฑลกวางไส บรรดาอาณาจักรใกล้เคียงต่างพากันหวั่นเกรง และยอมอ่อนน้อมต่ออาณาจักรน่านเจ้าโดยทั่วหน้ากัน พระเจ้าพีล่อโก๊ะมีอุปนิสัยเป็นนักรบ จึงโปรดการสงคราม ปรากฎว่าครั้งหนึ่ง พระองค์เสด็จเป็นจอมทัพไปช่วยจีนรบกับชาวอาหรับ ที่มณฑลซินเกียง และพระองค์ได้รับชัยชนะอย่างงดงาม ทางกษัตริย์จีนถึงกับยกย่องให้สมญานามพระองค์ว่า ยูนานอ๋อง พระองค์เป็นกษัตริย์ที่เห็นการณ์ไกล มีนโยบายในการแผ่อาณาเขตที่ฉลาดสุขุมคัมภีรภาพ วิธีการของพระองค์คือ ส่งพระราชโอรสให้แยกย้ายกันไปตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่ทางทิศใต้ และทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่บริเวณ หลวงพระบาง ตังเกี๋ย สิบสองปันนา สิบสองจุไทย (เจ้าไทย) หัวพันทั้งห้าทั้งหก กาลต่อมาปรากฎว่าโอรสองค์หนึ่งได้ไปสร้างเมืองชื่อว่า โยนกนคร ขึ้นทางใต้ เมืองต่าง ๆ ของโอรสเหล่านี้ต่างก็เป็นอิสระแก่กัน เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าพีล่อโก๊ะ (พ.ศ. ๑๒๘๙) พระเจ้าโก๊ะล่อฝง ผู้เป็นราชโอรสได้ครองราชยสืบต่อมา และได้ดำเนินนโยบายเป็นไมตรีกับจีนตลอดมา จนถึง พ.ศ. ๑๒๙๓ จึงมีสาเหตุขัดเคืองใจกันขึ้น มูลเหตุเนื่องจากว่า เจ้าเมืองฮุนหนำได้แสดงความประพฤติดูหมิ่นพระองค์ พระองค์จึงขัดเคืองพระทัย ถึงขั้นยกกองทัพไปตีได้เมืองฮุนหนำ และหัวเมืองใหญ่น้อยอื่น ๆ อีก ๓๒ หัวเมือง แม้ว่าทางฝ่ายจีนจะพยายามโจมตีกลับคืนหลายครั้งก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดฝ่ายจีนก็เข็ดขยาด และเลิกรบไปเอง ในขณะที่ไทยทำสงครามกับจีน ไทยก็ได้ทำการผูกมิตรกับธิเบต เพื่อหวังกำลังรบ และเป็นการป้องกันอันตรายจากด้านธิเบต เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าโก๊ะล่อฝง ราชนัดดาคือเจ้าอ้ายเมืองสูง (อีเหมาซุน) ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อมา มีเหตุการณ์ในตอนต้นรัชกาล คือไทยกับธิเบตเป็นไมตรีกัน และได้รวมกำลังกันไปตีแคว้นเสฉวนของจีน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ในเวลาต่อมา ธิเบตถูกรุกรานและได้ขอกำลังจากไทยไปช่วยหลายครั้ง จนฝ่ายไทยไม่พอใจ ประจวบกันในเวลาต่อมา ทางจีนได้แต่งฑูตมาขอเป็นไมตรีกับไทย เจ้าอ้ายเมืองสูงจึงคิดที่จะเป็นไมตรีกับจีน เมื่อทางธิเบตทราบระแคะระคายเข้าก็ไม่พอใจ จึงคิดอุบายหักหลังไทย แต่ฝ่ายไทยไหวทันจึงสวมรอยเข้าโจมตีธิเบตย่อยยับ ตีได้หัวเมืองธิเบต ๑๖ แห่ง ทำให้ธิเบตเข็ดขยาดฝีมือของไทยนับตั้งแต่นั้นมา ในเวลาต่อมากษัตริย์น่านเจ้าในสมัยหลังอ่อนแอ และไม่มีนิสัยเป็นนักรบ ดังปรากฎในตามบันทึกของฝ่ายจีนว่า ในสมัยที่พระเจ้าฟ้า ขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ. ๑๔๒๐ นั้น ได้มีพระราชสาส์นไปถึงอาณาจักรจีน ชวนให้เป็นไมตรีกัน ทางฝ่ายจีนก็ตกลง เพราะยังเกรงในฝีมือ และความเข้มแข็งของไทยอยู่ แต่กระนั้นก็ไม่ละความพยายามที่จะหาโอกาสรุกรานอาณาจักรน่านเจ้า ปรากฎว่าพระเจ้าแผ่นดินจีนได้ส่งราชธิดา หงางฝ่า ให้มาอภิเษกสมรสกับพระเจ้าฟ้า เพื่อหาโอกาสรุกเงียบในเวลาต่อมา โดยได้พยายามผันแปรขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนัก ให้มีแบบแผนไปทางจีนทีละน้อย ๆ ดังนั้นราษฎรน่านเจ้าก็พากันนิยมตาม จนในที่สุด อาณาจักรน่านเจ้าก็มีลักษณะคล้ายกับอาณาจักรจีน แม้ว่าสิ้นสมัยพระเจ้าฟ้า กษัตริย์น่านเจ้าองค์หลัง ๆ ก็คงปฎิบัติตามรอยเดิม ประชาชนชาวจีนก็เข้ามาปะปนอยู่ด้วยมาก แม้กษัตริย์เองก็มีสายโลหิตจากทางจีนปะปนอยู่ด้วยแทบทุกองค์ จึงก่อให้เกิดความเสื่อม ความอ่อนแอขึ้นภายใน มีการแย่งชิงราชสมบัติกันในบางครั้ง จนในที่สุดเกิดการแตกแยกในอาณาจักรน่านเจ้า ความเสื่อมได้ดำเนินต่อไปตามลำดับ จนถึงปี พ.ศ. ๑๘๒๓ ก็สิ้นสุดลงด้วยการโจมตีของกุบไลข่าน (Kublai Khan) กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรจีน อาณาจักรน่านเจ้าก็ถึงกาลแตกดับลงในครั้งนั้น
ความเจริญของอาณาจักรน่านเจ้า ตามบันทึกของจีนโบราณกล่าวไว้ว่า นอกจากน่านเจ้าจะเป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีประชากร หนาแน่นแล้ว ยังมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูง ทางด้านการปกครองได้จัดแบ่งออกเป็น ๙ กระทรวง คือ กระทรวงว่าการทหาร กระทรวงจัดการสำมะโนครัว กระทรวงราชประเพณี กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงโยธา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงการต่างประเทศ มีเจ้าพนักงานสำหรับสอบคัดเลือกผู้เข้ารับราชการ กองทหารก็จัดเป็น หมู่ หมวด กองร้อย กองพัน มีธงประจำกอง ทหารแต่งกายด้วยเสื้อกางเกงทำด้วยหนังสัตว์ สวมหมวกสีแดงมียอด ถือโลห์หนังแรด มีหอกหรือขวานเป็นอาวุธ หากใครมีม้าก็เป็นทหารม้า ทรัพย์สินของรัฐมียุ้งฉางสำหรับเสบียงของหลวง มีโรงม้าหลวง มีการเก็บภาษีอากร มีการแบ่งปันที่นาให้ราษฎรตามส่วน อาชีพทั่วไปของราษฎรคือการเพาะปลูก เมื่อรู้จักปลูกฝ้ายก็มีการทอผ้า นอกจากนั้นก็มีอาชีพขุดทอง
ศาสนาประจำชาติ ส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน รวมทั้งนับถือศาสนาเดิมที่นับถือบรรพบุรุษ การศึกษา ชนชาติไทยในสมัยน่านเจ้ามีภาษาใช้ประจำชาติโดยเฉพาะแล้ว แต่เรื่องของตัวหนังสือเรายังไม่สามารถทราบได้ว่ามีใช้หรือยัง ชนชาติต่าง ๆ ในแหลมสุวรรณภูมิก่อนที่ไทยจะอพยพมาอยู่ ชนชาติดั้งเดิม และมีความเจริญน้อยที่สุดก็คือพวก นิโกรอิด (Negroid) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของ พวกเงาะ เช่น เซมัง ซาไก (Sakai) ปัจจุบันชนชาติเหล่านี้มีเหลืออยู่น้อยเต็มที แถวปักษ์ใต้อาจมีเหลืออยู่บ้าง ในเวลาต่อมาชนชาติที่มีอารยธรรมสูงกว่า เช่น มอญ ขอม ละว้า ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ขอม มีถิ่นฐานทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแหลมสุวรรณภูมิ ในบริเวณแม่น้ำโขงตอนใต้ และทะเลสาบเขมร ลาวหรือละว้า มีถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นดินแดนตอนกลางระหว่างขอมและมอญ มอญ มีถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำอิรวดี ทั้งสามชาตินี้มีความละม้ายคล้ายคลึงกันมาก ตั้งแต่รูปร่าง หน้าตา ภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณีสันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นชนชาติเดียวกันมาแต่เดิม อาณาจักรละว้า เมื่อประมาณ พ.ศ. ๗๐๐ ชนชาติละว้าซึ่งเข้าครอบครองถิ่นเจ้าพระยา ได้ตั้งอาณาจักรใหญ่ขึ้นสามอาณาจักรคือ อาณาจักรทวาราวดี มีอาณาเขตประมาณตั้งแต่ราชบุรี ถึงพิษณุโลก มีนครปฐมเป็นเมืองหลวง อาณาจักรโยนกหรือยาง เป็นอาณาจักรทางเหนือในเขตพื้นที่เชียงราย และเชียงแสน มีเงินยางเป็นเมืองหลวง อาณาจักรโคตรบูรณ์ มีอาณาเขตตั้งแต่นครราชสีมาถึงอุดรธานี มีนครพนมเป็นเมืองหลวง อารยธรรมที่นำมาเผยแพร่ แหลมสุวรรณภูมิได้เป็นศูนย์กลางการค้าของจีน และอินเดียมาเป็นเวลาช้านาน จนกลายเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมผสม ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณนี้ เป็นเหตุดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาอาศัย และติดต่อค้าขาย นับตั้งแต่ พ.ศ. ๓๐๐ เป็นต้นมา ได้มีชาวอินเดียมาอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิเป็นจำนวนมากขึ้นตามลำดับ รวมทั้งพวกที่หนีภัยสงครามทางอินเดียตอนใต้ ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์แห่งแคว้นโกศลได้กรีฑาทัพไปตีแคว้นกลิงคราฎร์ ชาวพื้นเมืองอินเดียตอนใต้ จึงอพยพเข้ามาอยู่ที่พม่า ตลอดถึงพื้นที่ทั่วไปในแหลมมลายู และอินโดจีน อาศัยที่พวกเหล่านี้มีความเจริญอยู่แล้ว จึงได้นำเอาวิชาความรู้และความเจริญต่าง ๆ มาเผยแพร่ คือ ศาสนาพุทธ พระพุทธศาสนา ซึ่งเหมาะสมในทางอบรมจิตใจ ให้ความสว่างกระจ่างในเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ สันนิษฐานว่า พุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่เป็นครั้งแรกโดย พระโสณะ และพระอุตระ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย ศาสนาพราหมณ์ มีความเหมาะสมในด้านการปกครอง ซึ่งต้องการความศักดิ์สิทธิ์ และเด็ดขาด ศาสนานี้สอนให้เคารพในเทพเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระพรหม และพระนารายณ์ นิติศาสตร์ ได้แก่การปกครอง ได้วางแผนการปกครองหัวเมืองตลอดจนการตั้งมงคลนาม ถวายแก่พระมหากษัตริย์ และตั้งชื่อเมือง อักษรศาสตร์ พวกอินเดียตอนใต้ได้นำเอาตัวอักษรคฤณฑ์เข้ามาเผยแพร่ ต่อมาภายหลังได้ดัดแปลงเป็นอักษรขอม และอักษรมอญ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย โดยดัดแปลงจากอักษรขอม เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๓ ศิลปศาสตร์ ได้แก่ฝีมือในการก่อสร้าง แกะสลัก ก่อพระสถูปเจดีย์ และหล่อพระพุทธรูป

การแผ่อำนาจของขอมและพม่า ประมาณปี พ.ศ. ๖๐๑ โกณฑัญญะ ซึ่งเป็นชาวอินเดียได้สมรสกับนางพญาขอม และต่อมาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ครอบครองดินแดนของนางพญาขอม จัดการปกครองบ้านเมืองด้วยความเรียบร้อย ทำนุบำรุงกิจการทหาร ทำให้ขอมเจริญขึ้นตามลำดับ มีอาณาเขตแผ่ขยายออกไปมากขึ้น ในที่สุดก็ได้ยกกำลังไปตีอาณาจักรโคตรบูรณ์ ซึ่งเป็นอาณาจักรที่อยู่ทางเหนือของละว้าไว้ได้ แล้วถือโอกาสเข้าตีอาณาจักรทวาราวดี ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๖๐๐ กษัตริย์พม่าผู้มีความสามารถองค์หนึ่ง คือ พระเจ้าอโนธรามังช่อ ได้ยกกองทัพมาตีอาณาจักรมอญ เมื่อตีอาณาจักรมอญไว้ในอำนาจได้ แล้วก็ยกทัพล่วงเลยเข้ามาตีอาณาจักรทวาราวดี และมีอำนาจครอบครองตลอดไปทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อำนาจของขอมก็สูญสิ้นไป แต่เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าอโนธรามังช่อ อำนาจของพม่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็พลอยเสื่อมโทรมดับสูญไปด้วย เพราะกษัตริย์พม่าสมัยหลังเสื่อมความสามารถ และมักแย่งชิงอำนาจซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้แว่นแคว้นต่าง ๆ ที่เคยเป็นเมืองขึ้น ตั้งตัวเป็นอิสระได้อีก ในระหว่างนี้ พวกไทยจากน่านเจ้า ได้อพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิเป็นจำนวนมากขึ้น เมื่อพม่าเสื่อมอำนาจลง คนไทยเหล่านี้ก็เริ่มจัดการปกครองกันเองในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฝ่ายขอมนั้นเมื่อเห็นพม่าทอดทิ้งแดนละว้าเสียแล้ว ก็หวลกลับมาจัดการปกครองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอีกวาระหนึ่ง โดยอ้างสิทธิแห่งการเป็นเจ้าของเดิม อย่างไรก็ตามอำนาจของขอมในเวลานั้นก็ซวดเซลงมากแล้ว แต่เนื่องจากชาวไทยที่อพยพเข้ามาอยู่ยังไม่มีอำนาจเต็มที่ ขอมจึงบังคับให้ชาวไทยส่งส่วยให้ขอม พวกคนไทยที่อยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ ไม่กล้าขัดขืน ยอมส่งส่วยให้แก่ขอมโดยดี จึงทำให้ขอมได้ใจ และเริ่มขยายอำนาจขึ้นไปทางเหนือ ในการนี้เข้าใจว่าบางครั้งอาจต้องใช้กำลังกองทัพเข้าปราบปราม บรรดาเมืองที่ขัดขืนไม่ยอมส่งส่วย ขอมจึงสามารถแผ่อำนาจขึ้นไปจนถึงแคว้นโยนก ส่วนแคว้นโยนกนั้น ถือตนว่าไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของขอมมาก่อน จึงไม่ยอมส่งส่วยให้ตามที่ขอมบังคับ ขอมจึงใช้กำลังเข้าปราบปรามนครโยนกได้สำเร็จ พระเจ้าพังคราช กษัตริย์แห่งโยนกลำดับที่ ๔๓ ได้ถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองเวียงสีทอง
แคว้นโยนกเชียงแสน (พ.ศ. ๑๖๖๑ - ๑๗๓๑) ดังได้ทราบแล้วว่าโอรสของพระเจ้า พีล่อโก๊ะ องค์หนึ่ง ชื่อพระเจ้าสิงหนวัติ ได้มาสร้างเมืองใหม่ขึ้นทางใต้ ชื่อเมืองโยนกนาคนคร เมืองดังกล่าวนี้อยู่ในเขตละว้า หรือในแคว้นโยนก เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๑๑๑ เป็นเมืองที่สง่างามของย่านนั้น ในเวลาต่อมาก็ได้รวบรวมเมืองที่อ่อนน้อมตั้งขึ้นเป็นแคว้น ชื่อโยนกเชียงแสน มีอาณาเขตทางทิศเหนือตลอดสิบสองปันนา ทางใต้จดแคว้นหริภุญชัย มีกษัตริย์สืบเชื้อสายต่อเนื่องกันมา จนถึงสมัยพระเจ้าพังคราชจึงได้เสียทีแก่ขอมดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม พระเจ้าพังคราชตกอับอยู่ไม่นานนัก ก็กลับเป็นเอกราชอีกครั้งหนึ่ง ด้วยพระปรีชาสามารถของพระโอรสองค์น้อย คือ พระเจ้าพรหม ซึ่งมีอุปนิสัยเป็นนักรบ และมีความกล้าหาญ ได้สร้างสมกำลังผู้คน ฝึกหัดทหารจนชำนิชำนาญ แล้วคิดต่อสู้กับขอม ไม่ยอมส่งส่วยให้ขอม เมื่อขอมยกกองทัพมาปราบปราม ก็ตีกองทัพขอมแตกพ่ายกลับไป และยังได้แผ่อาณาเขตเลยเข้ามาในดินแดนขอม ได้ถึงเมืองเชลียง และตลอดถึงลานนา ลานช้าง แล้วอัญเชิญพระราชบิดา กลับไปครองโยนกนาคนครเดิม แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองเสียใหม่ว่าชัยบุรี ส่วนพระองค์เองนั้นลงมาสร้างเมืองใหม่ทางใต้ชื่อเมืองชัยปราการ ให้พระเชษฐา คือ เจ้าทุกขิตราช ดำรงตำแหน่งอุปราช นอกจากนั้นก็สร้างเมืองอื่น ๆ เช่น เมืองชัยนารายณ์ นครพางคำ ให้เจ้านายองค์อื่น ๆ ปกครอง เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าพังคราช พระเจ้าทุกขิตราช ก็ได้ขึ้นครองเมืองชัยบุรี ส่วนพระเจ้าพรหม และโอรสของพระองค์ก็ได้ครองเมืองชัยปราการต่อมา ในสมัยนั้นขอมกำลังเสื่อมอำนาจ จึงมิได้ยกกำลังมาปราบปราม ฝ่ายไทยนั้น แม้กำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบ แต่ก็คงยังไม่มีกำลังมากพอที่จะแผ่ขยาย อาณาเขตลงมาทางใต้อีกได้ ดังนั้นอาณาเขตของไทยและขอมจึงประชิดกันเฉยอยู่ เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าพรหม กษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาอ่อนแอและหย่อนความสามารถ ซึ่งมิใช่แต่ที่นครชัยปราการเท่านั้น ความเสื่อมได้เป็นไปอย่างทั่วถึงกันยังนครอื่น ๆ เช่น ชัยบุรี ชัยนารายณ์ และนครพางคำ ดังนั้นในปี พ.ศ. ๑๗๓๑ เมื่อมอญกรีฑาทัพใหญ่มารุกรานอาณาจักรขอมได้ชัยชนะแล้ว ก็ล่วงเลยเข้ามารุกรานอาณาจักรไทยเชียงแสน ขณะนั้นโอรสของพระเจ้าพรหม คือ พระเจ้าชัยศิริ ปกครองเมืองชัยปราการ ไม่สามารถต้านทานศึกมอญได้ จึงจำเป็นต้องเผาเมือง เพื่อมิให้พวกข้าศึกเข้าอาศัย แล้วพากันอพยพลงมาทางใต้ของดินแดนสุวรรณภูมิ จนกระทั่งมาถึงเมืองร้างแห่งหนึ่งในแขวงเมืองกำแพงเพชร ชื่อเมืองแปป ได้อาศัยอยู่ที่เมืองแปปอยู่ห้วงระยะเวลาหนึ่ง เห็นว่าชัยภูมิไม่สู้เหมาะ เพราะอยู่ใกล้ขอม จึงได้อพยพลงมาทางใต้จนถึงเมืองนครปฐมจึงได้พักอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น ส่วนกองทัพมอญ หลังจากรุกรานเมืองชัยปราการแล้ว ก็ได้ยกล่วงเลยตลอดไปถึงเมืองอื่น ๆ ในแคว้นโยนกเชียงแสน จึงทำให้พระญาติของพระเจ้าชัยศิริ ซึ่งครองเมืองชัยบุรี ต้องอพยพหลบหนีข้าศึกเช่นกัน ปรากฎว่าเมืองชัยบุรีนั้นเกิดน้ำท่วม บรรดาเมืองในแคว้นโยนกต่างก็ถูกทำลายลงหมดแล้ว พวกมอญเห็นว่าหากเข้าไปตั้งอยู่ก็อาจเสียแรง เสียเวลา และทรัพย์สินเงินทองเพื่อที่จะสถาปนาขึ้นมาใหม่ ดังนั้นพวกมอญจึงยกกองทัพกลับ เป็นเหตุให้แว่นแคว้นนี้ว่างเปล่า ขาดผู้ปกครองอยู่ห้วงระยะเวลาหนึ่ง ในระหว่างที่ฝ่ายไทย กำลังระส่ำระสายอยู่นี้ เป็นโอกาสให้ขอมซึ่งมีราชธานีอุปราชอยู่ที่เมืองละโว้ ถือสิทธิ์เข้าครองแคว้นโยนก แล้วบังคับให้คนไทยที่ตกค้างอยู่นั้นให้ส่งส่วยให้แก่ขอม ความพินาศของแคว้นโยนกครั้งนี้ ทำให้ชาวไทยต้องอพยพแยกย้ายกันลงมาเป็นสองสายคือ สายของพระเจ้าชัยศิริ อพยพลงมาทางใต้ และได้อาศัยอยู่ชั่วคราวที่เมืองแปปดังกล่าวแล้ว ส่วนสายพวกชัยบุรีได้แยกออกไปทางตะวันออกของสุโขทัย จนมาถึงเมืองนครไทยจึงได้เข้าไปตั้งอยู่ ณ เมืองนั้นด้วยเห็นว่าเป็นเมืองที่มีชัยภูมิเหมาะสม เพราะเป็นเมืองใหญ่ และตั้งอยู่สุดเขตของขอมทางเหนือ ผู้คนในเมืองนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นชาวไทย อย่างไรก็ตามในชั้นแรกที่เข้ามาตั้งอยู่นั้น ก็คงต้องยอมขึ้นอยู่กับขอม ซึ่งขณะนั้นยังมีอำนาจอยู่ ในเวลาต่อมา เมื่อคนไทยอพยพลงมาจากน่านเจ้าเป็นจำนวนมาก ทำให้นครไทยมีกำลังผู้คนมากขึ้น ข้างฝ่ายอาณาจักรลานนาหรือโยนกนั้น เมื่อพระเจ้าชัยศิริทิ้งเมืองลงมาทางใต้ แล้วก็เป็นเหตุให้ดินแดนแถบนั้นว่างผู้ปกครองอยู่ระยะหนึ่ง แต่ในระยะต่อมาชาวไทยที่ค้างการอพยพ อยู่ในเขตนั้นก็ได้รวมตัวกัน ตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นหลายแห่งตั้งเป็นอิสระแก่กัน บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นที่นับว่าสำคัญ มีอยู่สามเมืองด้วยกัน คือ นครเงินยาง อยู่ทางเหนือ นครพะเยา อยู่ตอนกลาง และเมืองหริภุญไชย อยู่ลงมาทางใต้ ส่วนเมืองนครไทยนั้นด้วยเหตุที่ว่ามีที่ตั้งอยู่ปลายทางการอพยพ และอาศัยที่มีราชวงศ์เชื้อสายโยนกอพยพมาอยู่ที่เมืองนี้ จึงเป็นที่นิยมของชาวไทยมากกว่าพวกอื่น จึงได้รับยกย่องขึ้นเป็นพ่อเมือง ที่ตั้งของเมืองนครไทยนั้นสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองเดียวกันกับเมืองบางยาง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ มีเมืองขึ้น และเจ้าเมืองมีฐานะเป็นพ่อขุน เมื่อบรรดาชาวไทย เกิดความคิดที่จะสลัดแอก ของขอมครั้งนี้ บุคคลสำคัญในการนี้ก็คือ พ่อขุนบางกลางท่าว ซึ่งเป็นเจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดได้ร่วมกำลังกันยกขึ้นไปโจมตีขอม จนได้เมืองสุโขทัยอันเป็นเมืองหน้าด่านของขอมไว้ได้ เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๐๐ การมีชัยชนะของฝ่ายไทยในครั้งนั้น นับว่าเป็นนิมิตหมายเบื้องต้น แห่งความเจริญรุ่งเรืองของชนชาติไทย และเป็นลางร้ายแห่งความเสื่อมโทรมของขอม เพราะนับแต่วาระนั้นเป็นต้นมา ขอมก็เสื่อมอำนาจลงทุกที จนในที่สุดก็สิ้นอำนาจไปจากดินแดนละว้า แต่ยังคงมีอำนาจปกครองเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนใต้อยู่

ประวัติลูกเสือโลก



ประวัติลูกเสือโลก

กิจการลูกเสือโลกเป็นขบวนการฝึกอบรมเยาวชนที่กว้างขวางไปทั่วโลก และกำลังก้าวหน้ารุ่งเรืองขึ้นไป มีสมาชิกลูกเสือมากกว่า 16 ล้านคน ใน 150 ประเทศและดินแดนต่างๆการลูกเสือเป็นขบวนการอาสาสมัครไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และเป็นการจัดการ ศึกษาอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เปิดบริการเพื่อคนต่างวัยต่างวุฒิทั่วไปวัตถุประสงค์ของการลูกเสือก็เพื่อช่วยบุคคลในการพัฒนาตนเองทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และคุณธรรม
ประวัติของการกำเนิดลูกเสือโลก ผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลกคือ ลอร์ด เบเดน โพเอลล์ แห่ง กิลเวลล์ ซึ่งสมาชิกในวงการลูกเสือโลก เรียกชื่อของท่าน ว่า บี.พี. ท่านเป็นชาวอังกฤษ เกิดในกรุงลอนดอนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2400
การทดลองการฝึกอบรมเด็กชายของ บี.พี.
ในปี พ.ศ. 2450 ขณะนั้น บี.พี. มีอายุ 50 ปี ครบเกษียณอายุราชการ จึงปลดเป็นทหารกองหนุนและได้รับยศ เป็น นายพลโท บี.พี. ได้เริ่มทดลองการฝึกอบรมเด็กชายเพื่อให้เป็นพลเมืองดีตามแบบใหม่ของท่าน คือนำเด็กชาย 21 คน ไปอยู่ค่ายพักแรมที่ เกาะบราวน์ซี เป็นเวลา 9 คืน ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม ถึงเช้าวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2450 โดยท่านรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฝึกอบรมภายหลังจากการทดลองอยู่ค่ายพักแรมที่ เกาะบราวน์ซีแล้ว ในปี พ.ศ. 2501 บี.พี. ได้รีบเรียบเรียงและจัดพิมพ์หนังสือคู่มือการฝึกอบรมลูกเสือขึ้นออกจำหน่าย ให้ชื่อว่า "Scouting For Boys" ซึ่งนายอภัย จันทวิมล ผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายวิชาการได้แปลไว้ว่า "การลูกเสือสำหับเด็กชาย" หนังสือ เล่มนี้ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการลูกเสือ สาระสำคัญของการลูกเสือ คำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ คติพจน์ลูกเสือ รหัสและการแสดงความเคารพของลูกเสือ การจับมือซ้ายแบบลูกเสือ เครื่องแบบของลูกเสือ และแนวการฝึกอบรม ลูกเสือด้วยวิธีต่างๆ เช่น ระบบหมู่ การเล่นเกมส์ การร้องเพลง และการเดินทางไกลอยู่ค่ายพักแรม เป็นต้น หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมจากเด็กอังกฤษ ตลอดจนประชาชนทั่วไป สามารถจำหน่ายได้ดีจนต้องจัดพิมพ์ถึง 5ครั้ง ในปีนั้นเองปัจจุบัน วงการลูกเสือทั่วโลกถือว่าการทดลองอยู่ ค่ายพักแรมที่เกาะบราวน์ซี เป็นการเริ่มต้นของการ ลูกเสือโลก และถือว่า บี.พี. เป็นบิดาแห่งลูกเสือโลก
การเริ่มต้นของกิจการลูกเสือโลก ในการดำเนินการลูกเสือขั้นต้น บี.พี. ได้จัดตั้งสำนักงานเล็กๆ ขึ้นแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอนเพื่อให้คำชี้แจงและแนะนำ เกี่ยวกับกิจการลูกเสือ ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2452 บี.พี.ได้จัดตั้งคณะกรรมการ บริหารงาน ลูกเสือ ชุดแรกขึ้น โดย บี.พี. รับหน้าที่เป็นประธานกรรมการ บี.พี. ได้ไปบรรยายเรื่องการลูกเสือตามเมืองต่างๆ ในอังกฤษ ได้ผลเกินความคาดหมายพวกเด็กทั่วประเทศ ได้มีความเลื่อมใสในวีรบุรุษแห่งเมืองมาฟอีคิง ในสมัยที่ บี.พี. ยังรับราชการทหารอยู่ บี.พี. ได้สร้างวีรกรรมทางทหาร ที่เมืองมาฟอีคิงในแอฟริกาใต้ไว้ ทำให้ บี.พี. มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือในประเทศอังกฤษในสมัยนั้น

ประวัติลูกเสือไทย


การลูกเสือ ได้อุบัติขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก โดยลอร์ดเบเดน โพเอลล์ (Lord Baden Powell) ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) สืบเนื่องจากการรบกับพวกบัวร์ (Boar) ในการรักษาเมืองมาฟิคิง (Mafeking) ที่อาฟริกาใต้ในปี พ.ศ. 2442 ซึ่งบี พี ได้ตั้งกองทหารเด็กให้ช่วยสอดแนมการรบ จนรบชนะข้าศึกเมื่อกลับไปประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2450 จึงได้ทดลองนำเด็กชาย 20 คน ไปอยู่ค่ายพักแรมที่เกาะบราวน์ซี Browmsea Islands) ซึ่งได้ผลดีตามที่คาดหมายไว้ ปี พ.ศ. 2451 บี พี จึงได้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ที่ประเทศอังกฤษ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ทวีปยุโรป ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงทราบเรื่องการสู้รบเพื่อรักษาเมืองมาฟิคิง (Mafeking) ของ ลอร์ดเบเดน โพเอลล์ (Lord Baden Powell) ซึ่งได้ตั้งกองทหารเด็กเป็นหน่วยสอดแนมช่วยรบในการรบกับพวกบัวร์ (Boar) จนประสบผลสำเร็จ และได้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2450 เมื่อพระองค์เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทย ก็ได้ทรงจัดตั้งกองเสือป่า (Wild Tiger Corps) ขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกหัดให้ข้าราชการและพลเรือนได้เรียนรู้วิชาทหาร เพื่อเป็นคุณประโยชน์ต่อบ้านเมือง รู้จักระเบียบวินัย มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ต่อจากนั้นอีก 2 เดือน ก็ได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2454 ด้วยทรงมีพระราชปรารภว่า เมื่อฝึกผู้ใหญ่เป็นเสือป่า เพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือชาติบ้านเมืองแล้ว เห็นควรที่จะมีการฝึกเด็กชายปฐมวัยให้มีความรู้ทางเสือป่าด้วย เมื่อเติบโตขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่และประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง จากนั้น ทรงตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (โรงเรียนวชิราวุธ ในปัจจุบัน) และจัดตั้งกองลูกเสือตามโรงเรียน ต่าง ๆ ให้กำหนดข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้น รวมทั้งพระราชทาน คำขวัญให้ลูกเสือว่า “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์ ” ผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นลูกเสือไทยคนแรก คือ นายชัพท์ บุนนาค ซึ่งต่อมา ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “นายลิขิตสารสนอง”

ปี พ.ศ. 2463 ได้จัดส่งผู้แทนคณะลูกเสือไทย จำนวน 4 คน ไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 1 (1st World Scout Jamboree) ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกของโลก ณ อาคารโอลิมเปีย กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ปี พ.ศ. 2465 คณะลูกเสือไทย ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมัชชาลูกเสือโลก ซึ่งขณะนั้นมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 31 ประเทศ ประเทศทั้ง 31 ประเทศนี้ นับเป็นสมาชิกรุ่นแรก หรือสมาชิกผู้ก่อการจัดตั้ง (Foundation Members) สมัชชาลูกเสือโลกขึ้นมา
ปี พ.ศ. 2467 ได้จัดส่งผู้แทนคณะลูกเสือไทย 10 คน ไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 2 ณ ประเทศเดนมาร์ก
ปี พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2468

ประวัติศาสตร์ลูกเสือไทย
พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911)- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงก่อตั้งกิจการลูกเสือไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454
พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1920) - ส่งผู้แทนคณะลูกเสือไทยไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 1 ณ ประเทศอังกฤษ
พ.ศ. 2465 (ค.ศ. 1922)- คณะลูกเสือแห่งชาติ เข้าเป็นสมาชิกสมัชชาลูกเสือโลก
พ.ศ. 2467 (ค.ศ. 1924) - ส่งผู้แทนคณะลูกเสือไทยไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 2 ณ ประเทศเดนมาร์ก
พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) - จัดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 1 (1st National Jamboree)
พ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1956) - เป็นสมาชิกของสำนักงานลูกเสือภาคตะวันออกไกล ซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้น ขณะนั้นมีประเทศสมาชิกอยู่ 10 ประเทศ
พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) - เฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีการลูกเสือไทย
พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) - เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้บังคับบัญชาลูกเสือภาคตะวันออกไกล ครั้งที่ 3 (3rd Far East Scout Conference) ณ ศาลาสันติธรรม

ประวัติหลวงพ่อคูณ



ประวัติ หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่



ประวัติ หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่
วัดบ้านไร่ ตำบล กุดพิมาน อำเภอ ด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา...
ประวัติ
หลวงพ่อคูณ ถือกำเนิดที่บ้านไร่ ม.6 ต.กุดพิมาน อ.อ่านขุนทด จ.นครราชสีมา ในครอบครัวของชาวไร่ชาวนาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ บิดาชื่อ นายบุญ ฉัตรพลกรัง มารดาชือ นางทองขาว ฉัตรพลกรัง เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2466 (บางตำราว่าวันที่ ๔ ตุลาคม) ตรงกับวันแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน เป็นบุตรชายคนหัวปี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๓ คน คือ
๑ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ๒ นายคำมั่ง แจ้งแสงใส ๓ นางทองหล่อ เพ็ญจันทร์
มารดาคือ นางทองขาว เล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า ก่อนตั้งครรภ์ กลางดึกของคืนวันหนึ่งเวลาประมาณตี ๓ นางได้ฝันเห็นเทพองค์หนึ่ง มีกายเรืองแสงงดงาม ลอยลงมาจากสวรรค์ มาที่บ้านของนางและกล่าวว่า...
เจ้าและสามีเป็นผู้มีศีลธรรม เมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ประกอบการงานอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งยังสร้างคุณงาม ความดีมาตลอดหลายชาติ เราขอำนวยพรให้เจ้า และครอบครัวมีแต่ความสุขสวัสดิ์ตลอดไปและเทพองค์นั้นยังได้มอบดวงแก้วใสสะอาดสุกว่างให้แก่นางด้วย "ดวงมณีนี้ เจ้าจงรับไปและรักษาให้ดีต่อไปภายหน้า จะได้เป็นพระพุทธสาวกหน่อเนื้อพระชินวร เพื่อสืบพระพุทธศาสนา เป็นเนื้อนาบุญ ที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งปวง"
การศึกษา
เนื่องด้วยบุรพกรรมและสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน บิดามารดาของหลวงพ่อคูณ ได้เสียชีวิตลงในขณะที่ลูกทั้ง ๓ คน ยังเป็นเด็ก หลวงพ่อคูณกับน้อง ๆ จึงอยู่ในความอุปการะของน้าสาว สมัยที่หลวงพ่อคูณอยู่ในวัยเยาว์ ๖-๗ ขวบ ได้เข้าเรียนหนังสือ กับพระอาจารย์เชื่อม วิรโธ พระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หลี ทั้งภาษาไทย และภาษาขอม ที่วัดบ้านไร่ สถานการศึกษาแห่งเดียวในหมู่บ้าน มิได้มีโรงเรียนทำการสอนเช่นในสมัยปัจจุบัน นอกจากเรียนภาษาไทยและขอมแล้ว พระอาจารย์ทั้ง ๓ ยังมีเมตตาอบรมสั่งสอนวิชา คาถาอาคม เพื่อป้องกันอันตรายต่าง ๆ ให้แก่หลวงพ่อคูณด้วย นับว่าหลวงพ่อคูณรู้วิชาไสยศาสตร์มาแต่เยาว์วัย
อุปสมบท
หลวงพ่อคูณ อุปสมบท เมื่ออายุได้ 21 ปี ณ พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๘๗ (หนังสือบางแห่งว่า ปี ๒๔๘๖) ตรงกับวันศุกร์ เดือน 6 ปีวอก โดยพระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ คือพระอาจารย์สุข วัดโคกรักษ์ หลวงพ่อคูณ ได้รับฉายาว่า ปริสุทโธ
หลังจากที่หลวงพ่อคูณอุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้ว ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สำนักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา (บางตำรากล่าวว่าเมื่อบรรพชาแล้วได้เล่าเรียนกับหลวงพ่อคง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดถนนหักใหญ่ก่อน แล้ว หลวงพ่อคงจึงนำไปฝากกับหลวงพ่อแดง)
หลวงพ่อแดง เป็นพระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ อย่างเคร่งครัด และทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและลูกศิษย์เป็นอย่างมาก
หลวงพ่อคูณ ตั้งใจร่ำเรียนพระธรรมวินัย ตามรอยพระพุทธองค์ ที่ตรัสไว้ว่า... " เทว เม ภิกขเว วิชชา ภาคิยา" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิชานั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ
๑ สมถะ ความสงบระงับแห่งจิตที่ปราศจากกิเลสอาสวะทั้งปวง
๒ วิปัสสนา ความเห็นแจ้งซึ่งธรรมเบื้องสูงอันสุขุมลุ่มลึก ในทางพุทธศาสนาและจงเดินตามหนทางนั้นเถิด...
หลวงพ่อคูณ ได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร หลวงพ่อแดงจึงพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็น ลูกศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร ซึ่งหลวงพ่อทั้งสองรูปนี้ เป็นเพื่อนกันต่างให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อมีโอกาสได้พบปะ มักแลกเปลี่ยนธรรมะ ตลอดจนวิชาอาคมแก่กันเสมอ
หลวงพ่อคง พุทธฺสโร เป็นพระอาจารย์ผู้ทรงคุณทั้งทางธรรม และทางไสยเวทย์ และได้อบรมสั่งสอนให้กับ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ด้วยความรักใคร่มิได้ปิดบังอำพราง โดยการให้การศึกษาพระธรรมควบคู่กับการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน น้นเรื่องการมี "สติ" ระลึกรู้ พิจารณาอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบและให้เกิดความรู้เท่าทัน ในอารมณ์นั้น เช่น เมื่อเกิดอารมณ์ "หลง" ท่านให้พิจารณาว่า...
"อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นความทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา สักแต่ว่าเป็นรูป เป็นนาม จึงมิใช่ของเราและของเขา”
และท่านจึงให้แนวทางพิจารณา 5 ประการ คือ
พิจารณาว่า ความเกิดเป็นเรื่องธรรมดา หาล่วงความเกิดนี้ได้พิจารณาว่า ความแก่เป็นเรื่องธรรมดา หาล่วงความแก่นี้ได้พิจารณาว่า ความเจ็บเป็นเรื่องธรรมดา หาล่วงความเจ็บนี้ได้พิจารณาว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดา หาล่วงความตายนี้ได้พิจารณาว่า เรามีกรรมเป็นเรื่องธรรมดา เรามีกรรมเป็นของตนเอง เรากระทำความดี จักได้ดี เรากระทำความชั่ว จักได้ชั่ว"
ส่วนพระกัมฏฐานนั้น หลวงพ่อคงได้สอนให้ใช้หมวดอนุสติ โดยดึงเอาวิธีกำหนด “ความตาย” เป็นอารมณ์ เรียกว่า “มรณัสสติ” เพื่อให้ เกิดความรู้เท่าทัน ไม่หลงในในอารมณ์ รูป รส กลิ่น เสียง ไม่ประมาทในความโลภ ความโกรธ และความหลง กำหนดลมหายใจเข้าออกทำจิตให้เกิด สัมมาสมาธิ เรียกว่า “อานาปานสติ”
เวลาล่วงเลยนานพอสมควร กระทั่งหลวงพ่อคงเห็นว่า ลูกศิษย์ของตนมีความรอบรู้ชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงแนะนำให้ออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงต่อไป แรก ๆ หลวงพ่อคูณก็ธุดงค์ จาริกอยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจึงจาริกออกไปไกล ๆ กระทั่งถึงประเทศลาว และประเทศเขมร มุ่งเข้าสู่ป่าลึก เพื่อทำความเพียรให้เกิดสติปัญญา เพื่อการหลุดพ้น จากกิเลส ตัณหา และอุปทานทั้งปวง
สู่มาตุภูมิ
หลังจากที่พิจารณาเห็นสมควรแก่การปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อคูณ จึงออกเดินทางจากประเทศเขมรสู่ประเทศไทย เดินข้ามเขตด้านจังหวัดสุรินทร์ สู่จังหวัดนครราชสีมา กลับบ้านเกิดที่บ้านไร่ จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุทาง พระพุทธศาสนา โดยเริ่มสร้างอุโบสถ พ.ศ.๒๔๙๖ โดยชาวบ้านได้ช่วยกันเข้าป่าตัดไม้ ซึ่งในสมัยก่อนมีอยู่มาก การตัดไม้ในสมัยนั้น ไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะไม่มีเครื่องจักร ไม่มีถนน กว่าจะได้ไม้ที่เลื่อยแปรสภาพสำเร็จแล้ว ต้องเผชิญกับการขนย้ายที่ยากลำบาก โดยอาศัยโคเทียมเกวียนบ้าง ใช้แรงงานคนลากจูง บนทางที่แสนทุรกันดาร เนื่องจากถนนทางเกวียนนั้นเป็นดินทรายเสียส่วนใหญ่ เมื่อต้องรับน้ำหนักมากก็มักทำให้ล้อเกวียนจมลงในทราย การชักจูงไม้แต่ละเที่ยวจึงต้องใช้เวลาถึง 3-4 วัน
แต่กระนั้น หลวงพ่อคูณ ก็สามารถนำชาวบ้านช่วยกันสร้างพระอุโบสถจนสำเร็จ (ปัจจุบันได้รื้อลงแล้ว และก่อสร้างหลังใหม่แทน) นอกจากสร้างพระอุโบสถแล้ว หลวงพ่อยังสร้างโรงเรียน กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ รวมทั้งขุดสระน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ยังความสะดวกสบาย และความเจริญในบ้านไร่ยิ่งนัก แม้ปัจจุบันจะไม่ได้เห็นสิ่งดังกล่าว เนื่องจากหลวงพ่อได้เปลี่ยนสิ่งก่อสร้างดังกล่าวทั้งหมด มาเป็นปูนเป็นอิฐให้สวยงามและทนทานยิ่งขึ้น
นอกจากการก่อสร้างอุโบสถแล้ว หลวงพ่อคูณยังสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดสระน้ำไว้เพื่อุปโภคและบริโภค และที่สำคัญยังสร้างโรงเรียนไว้เพื่อเด็กบ้านไร่อีกด้วย นอกเหนือจากนั้น หลวงพ่อคูณ ยังได้สร้างโรงพยาบาล โรงเรียน ตลอดจนบริจาคเงินทองเพื่อช่วยเหลือสาธารณะสุขต่างๆ
สร้างวัตถุมงคล
หลวงพ่อคูณ สร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่บวชแล้ว ๗ พรรษา โดยเริ่มทำวัตถุมงคล ซึ่งเป็นตะกรุดโทน ตะกรุดทองคำ เพื่อฝังที่ใต้ท้องแขน ณ วัดบ้านไร่ ราว พ.ศ.๒๔๙๓
“ใครขอ กูก็ให้ ไม่เลือกยากดีมีจน” เป็นคำกล่าวของท่าน เนื่องจากวัตถุมงคลของหลวงพ่อได้ชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ เมื่อมีผู้ถามว่า หลวงพ่อแจกให้กับคนไม่ดีเป็นโจรผู้ร้ายอย่างนี้หลวงพ่อไม่บาปหรือ “กูจะไปรู้หรือว่ามันเป็นใคร ถ้ามันเป็นโจร เมื่อมันได้รับประโยชน์จากของที่กูแจก มันคงคิดได้ว่า เป็นเพราะพระศาสนา มันจะได้เข้ามาสนใจปฏิบัติธรรม….”
“ถ้ามีใจอยู่กับ “พุทโธ” ให้เป็นกลางๆ ไม่สอดส่ายไปไหน นั่นหมายความว่า ใจเป็นสมาธิ จะช่วยปกป้องคุ้มครองเราได้ดียิ่ง… ยิ่งกว่ามีวัตถุมงคลใดๆ ในโลก”
การปลุกเสกวัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณ หลวงพ่อคูณจะใช้คาถาไม่กีบท
หัวใจพระคาถามีว่า
มะอะอุ นะมะพะธะ นะโมพุทธายะ พุทโธ และยานะ
แต่ในการปลุกเสก หลวงพ่อคูณจะใช้วิธี อนุโลมปฏิโลม (การต่อตามและย้อนลำดับ) เรียกว่า คาบพระคาถา
เมื่อนำหัวใจธาตุ ๔ คือ นะมะพะธะ มาใช้ หลวงพ่อคูณจะภาวนาด้วยจิตอันเป็นหนึ่ง(สมาธิ) ให้อักขระทั้ง ๔ นี้ เป็น ๑๖ อักขระ ดังนี้
นะ มะ พะ ธะ มะ พะ ธะ นะ พะ ธะ นะ มะ ธะ นะ มะ พะ
ระยะเวลาการปลุกเสกของท่านใช้เวลาไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับอารมณ์จิต ท่านเคยปรารภว่าเมื่อจะปลุกเสกวัตถุใด ใจต้องเป็นสมาธิ เมื่อใจมีสมาธิ ปลุกเสกสิ่งใดก็ขลัง ระยะเวลาหนึ่งนาทีก็ดีแล้ว แต่หากใจไม่เกิดสมาธิ ปลุกเสกทั้งคืนทั้งวันก็ไม่มีผล อย่างนี้สู้ไปทำอย่างอื่นดีกว่า
ท่านั่งยอง
หลวงพ่อคูณ ให้เหตุผลว่า เป็นท่าที่สบายที่สุด อีกทั้งเป็นลักษณะของคนเตรียมพร้อมที่ลุกเดินไปไหนมาไหนได้ทันที จะหยิบจับอะไรก็ง่ายและสะดวกในการทำงาน
การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ
หลวงพ่อคูณ ได้จัดสร้างโรงพยาบาลถึง 3 หลัง ตลอดจนโรงเรียน และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ยังได้บริจาคเงินทองเพื่อช่วยเหลือสาธารณะสุขต่างๆ ทุกๆวัน แต่ละเดือนเป็นจำนวนหลายแสนบาท
"หลวงพ่อคูณ เป็นคนยากจนมาโดยกำเนิด จึงอยากคิดช่วยเหลือคนอื่น การนำเงินออกไปช่วยคนอื่น ก็จะมีคนบริจาคเรื่อยๆ ถ้าเก็บไว้จะทำให้ตนตาบอด ใจก็บอดอีกด้วย จึงอยากช่วยคนอื่นอยู่เรื่อยไป วันใดไม่มีคนมาขอเงิน ก็ไม่ค่อยสบายใจ”
ข้อห้าม ข้อควรปฏิบัติ
หลวงพ่อคูณ สั่งว่า เมื่อมีพระเครื่องของหลวงพ่อคูณ ติดตัว ให้ภาวนา "พุทโธ" ทำจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่ ละเว้นถ้อยคำด่าทอ ค่าพ่อแม่ตน และพ่อแม่บุคคลอื่น และอย่าผิดสามีหรือภรรยาผู้อื่น ให้สวยมนต์ก่อนเข้านอนทุกคืน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด และหวงพ่อคูณย้ำว่า "ถ้ามีใจอยู่กับ พุทโธ ให้เป็นกลาง ๆ ไม่สอดส่ายไปที่ไหน นั่นหมายความว่า ใจเป็นสมาธิ จะช่วยปกป้องคุ้มครองเราได้ดียิ่ง...ยิ่งกว่ามีวัตถุมงคลใด ๆ ในโลก"
คาถาที่หลวงพ่อคูณใช้บริกรรมเวลานั่งสมาธิ
เวลาหายใจเข้า ให้บริกรรมว่า ตาย
เวลาหายใจออก ให้บริกรรมว่า แน่
เป็นตายแน่... ตายแน่... ตายแน่ไปเรื่อย ๆ จะรู้สึกสบาย จิตสงบ

ประวัติหนุมาน



ประวัติหนุมานหนุมาน เป็นลิงเผือก (กายสีขาว) มีลักษณะพิเศษ คือ มีเขี้ยวแก้วอยู่กลางเพดานปาก มีกุณฑลขนเพชร สามารถแผลงฤทธิ์ให้มีสี่หน้าแปดมือ แลหาวเป็นดาวเป็นเดือนได้ ใช้ตรีเพชร (สามง่าม) เป็นอาวุธประจำตัว(จะใช้เมื่อรบกับยักษ์ตัวสำคัญๆ) มีความเก่งกล้ามากสามารถแปลงกาย หายตัวได้ ทั้งยังอยู่ยงคงกระพัน แม้ถูกอาวุธของศัตรูจนตาย เมื่อมีลมพัดมาก็จะฟื้นขึ้นได้อีก เมื่อนางสวาหะถูกมารดาสาปให้ไปยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลม พระอิศวรจึงบัญชา ให้พระพายนำเทพอาวุธของพระองค์ไปซัดเข้าปากของนางนางจึงตั้งครรภ์และคลอดบุตรเป็นลิงเผือก เหาะออกมาจากปาก ได้ชื่อว่าหนุมาน หนุมานจึงถือว่าพระพายเป็นพ่อของตน หนุมานได้ถวายตัวเป็นทหารเอกของพระราม ช่วยทำการรบจนสิ้นสงคราม

ประวัติดอยสุเทพ


วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1929 ในสมัยพญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งอาณาจักรล้านนา ราชวงศ์เม็งราย พระองค์ทรงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุองค์ใหญ่ ที่ได้ทรงเก็บไว้สักการะบูชาส่วนพระองค์ถึง 13 ปี มาบรรจุไว้ที่นี่ ด้วยการทรงอธิษฐานเสี่ยงช้างมงคลเพื่อเสี่ยงทายสถานที่ประดิษฐาน พอช้างมงคลเดินมาถึงยอดดอยสุเทพ มันก็ร้องสามครั้ง พร้อมกับทำทักษิณาวัตรสามรอบ แล้วล้มลง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้ขุดดินลึก 8 ศอก กว้าง 6 วา 3 ศอก หาแท่นหินใหญ่ 6 แท่น มาวางเป็นรูปหีบใหญ่ในหลุม แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงประดิษฐานไว้ จากนั้นถมด้วยหิน แล้วก่อพระเจดีย์สูง 5 วา ครอบบนนั้น ด้วยเหตุนี้จึงห้ามพุทธศาสนิกชนที่ไปนมัสการสวมรองเท้าใน บริเวณพระธาตุ และมิให้สตรีเข้าไปบริเวณนั้น ในปี พ.ศ. 2081 สมัยพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์องค์ที่ 12 ได้ทรงโปรดฯให้เสริมพระเจดีย์ให้สูงกว่าเดิม เป็นกว้าง 6 วา สูง 11 ศอก พร้อมทั้งให้ช่างนำทองคำทำเป็นรูปดอกบัวทองใส่บนยอดเจดีย์ และต่อมาเจ้าท้าวทรายคำ ราชโอรสได้ทรงให้ตีทองคำเป็นแผ่นติดที่พระบรมธาตุ
ในปี พ.ศ. 2100 พระมหาญาณมงคลโพธิ์ วัดอโศการาม เมืองลำพูนได้สร้างบันไดนาคหลวงทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้ประชาชนขึ้นไปสักการะได้สะดวกขึ้น และกระทั่งถึงสมัยครูบาศรีวิชัย ท่านได้สร้างถนนขึ้นไป โดยถนนที่สร้างนี้มีความยาวถึง 11.53 กิโลเมตร
[แก้] การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 0ง วันที่ 8 มีนาคม 2478 พร้อมกับวัดอีกหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ [1]
[แก้] ภาพภายในวัด

ประวัติดอกกระดังงา


ชื่อพฤกษศาสตร์ : Cananga odorata,Hook. F.&Th.
ชื่อสามัญ : Ilang - ilang, Perfume Tree
ชื่อวงศ์ : Annonaceae
กระดังงาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ออกดอกตลอดปี ชอบอยู่กลางแจ้ง โคนต้นมีปุ่มบ้าง มีกิ่งก้านห้อยย้อย เปลือกมีผิวค่อนข้างเรียบ สีเทาปนดำหรือน้ำตาล เปลือกลอกเป็นชั้น ๆ ได้ มีกลิ่นเหม็นเขียว เพราะมีต่อมน้ำมันกระจายอยู่ทั่วไป ใบเป็นใบเดี่ยว ขึ้นเรียงสลับกันไปตามกิ่ง ใบมนรี ปลายแหลมโคนใบมน ริมใบเรียบเกลี้ยง ยาวประมาณ ๖ - ๗ นิ้ว ดอกมีสีเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง โคนก้านใบ กลีบดอกเรียวยาวประมาณ ๔ นิ้ว กลีบบิด ดอกหนึ่งมีกลีบ ๖ กลีบ เรียงกันเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ กลีบชั้นนอกใหญ่และยาวกว่ากลีบชั้นใน ก้ามเกสรตัวผู้สั้นมาก เมื่อดอกโรยจะติดผล ดอกกระดังงาใช้อบทำน้ำเชื่อม หรือใช้ปรุงขนมหวาน การขยายพันธุ์ใช้วิธีเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง

ประวัติดอกบานบุรี


บานเย็นชื่อสามัญ : Four-o clock, Marvel of Peruบานเย็นเป็นไม้ดอกล้มลุกที่มีอายุหลายปี วงศ์เดียวกับเฟื่องฟ้าเจริญเติบโต เป็นพุ่ม สูงได้ถึง 1 เมตร กิ่งเปราะ ใบเป็นรูปหัวใจ ปลาย แหลม ดอกบานเย็น ที่ฝรั่งเรียกเล่น ๆว่า Four O' Clock ซึ่งหมายถึง ดอกไม้ที่บานช่วง 4 โมงเย็น ดอกออกเป็นช่อตรงปลายกิ่ง ช่อละ 4 - 5 ดอก ลักษณะเป็นรูปกรวย ปลายบาน แยกเป็น 5 กลีบ ขนาด ดอกประมาณ 1 นิ้ว มีหลายสี สีเดิมคือสีชมพูอมม่วงสดใส ทำให้คนนิยมเรียกสิ่งที่มีสีชมพูอมม่วงแบบนี้ว่าสีดอกบานเย็น หรือสีบานเย็น
...
ปัจจุบันดอกบานเย็นมีเพิ่มขึ้นหลายสี ได้แก่ ชมพู ขาว เหลือง ส้ม และแม้กระทั่งสองสีในดอกเดียวกัน ดอกจะเริ่มบานในตอนเย็นและหุบในช่วงเช้า มีกลิ่นหอม ดอกออกเมื่อโตเต็มที่แล้ว เมื่อดอกโรยจะมีผลกลมกลมคล้ายเม็ดพริกไทย ผิวขรุขระ เมื่อแก่มีสีดำ มีเมล็ด ๑ เมล็ดเมล็ดบานเย็นมีรูปร่างค่อนข้างกลม ภายในมีแป้งสีขาวเป็นผงละเอียด ผู้หญิงไทยรู้จักใช้ผัดหน้าให้ผิวสวยและไม่เป็นสิว ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๒ เรื่อง อิเหนาตอนหนึ่งว่า ลางนางบ้างเก็บลูกบานเย็น มาผัดหน้าทาเล่นไม่เป็นสิว นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณ : ใช้เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไข้ระงับความร้อนด้วย
...
บานเย็นเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน เม็กซิโก เปรู แต่นิยมปลูกในบ้านเรามานานแล้ว ขยาย พันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือตัดหัวพันธุ์มาปลูก

ประวัติดอกบานเย็น


บานเย็นชื่อสามัญ : Four-o clock, Marvel of Peruบานเย็นเป็นไม้ดอกล้มลุกที่มีอายุหลายปี วงศ์เดียวกับเฟื่องฟ้าเจริญเติบโต เป็นพุ่ม สูงได้ถึง 1 เมตร กิ่งเปราะ ใบเป็นรูปหัวใจ ปลาย แหลม ดอกบานเย็น ที่ฝรั่งเรียกเล่น ๆว่า Four O' Clock ซึ่งหมายถึง ดอกไม้ที่บานช่วง 4 โมงเย็น ดอกออกเป็นช่อตรงปลายกิ่ง ช่อละ 4 - 5 ดอก ลักษณะเป็นรูปกรวย ปลายบาน แยกเป็น 5 กลีบ ขนาด ดอกประมาณ 1 นิ้ว มีหลายสี สีเดิมคือสีชมพูอมม่วงสดใส ทำให้คนนิยมเรียกสิ่งที่มีสีชมพูอมม่วงแบบนี้ว่าสีดอกบานเย็น หรือสีบานเย็น
...
ปัจจุบันดอกบานเย็นมีเพิ่มขึ้นหลายสี ได้แก่ ชมพู ขาว เหลือง ส้ม และแม้กระทั่งสองสีในดอกเดียวกัน ดอกจะเริ่มบานในตอนเย็นและหุบในช่วงเช้า มีกลิ่นหอม ดอกออกเมื่อโตเต็มที่แล้ว เมื่อดอกโรยจะมีผลกลมกลมคล้ายเม็ดพริกไทย ผิวขรุขระ เมื่อแก่มีสีดำ มีเมล็ด ๑ เมล็ดเมล็ดบานเย็นมีรูปร่างค่อนข้างกลม ภายในมีแป้งสีขาวเป็นผงละเอียด ผู้หญิงไทยรู้จักใช้ผัดหน้าให้ผิวสวยและไม่เป็นสิว ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๒ เรื่อง อิเหนาตอนหนึ่งว่า ลางนางบ้างเก็บลูกบานเย็น มาผัดหน้าทาเล่นไม่เป็นสิว นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณ : ใช้เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไข้ระงับความร้อนด้วย
...
บานเย็นเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน เม็กซิโก เปรู แต่นิยมปลูกในบ้านเรามานานแล้ว ขยาย พันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือตัดหัวพันธุ์มาปลูก

ประวัติดอกบานไม่รู้โรย



ดอกบานไม่รู้โรย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gomphrena globosa Linn. วงศ์ AMARANTHACEAE ชื่อสามัญ - Bachalor's Button,Button Agaga,Globe Amaranth,Pearly Everlasting ชื่ออื่นๆ กะล่อม ตะล่อม (ภาคเหนือ) ดอกสามเดือน กุนหยี (ภาคใต้)
ลักษณะทั่วไป
บานไม่รู้โรยเป็นไม้ที่กำเนิดอยู่ในแถบร้อนของทวีปเอเชีย ทนต่อความร้อนความแห้งแล้งได้ดี เป็นไม้ล้มลุก ทรงพุ่มสูงประมาณ
100-150 ซ.ม ออกดอกเดี่ยวขนาดเล็กกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ3/4นิ้ว กลีบดอกแข็งเล็กจัดเรียงตัวรวมกันอยู่อย่างหนา
แน่น มีสีชมพู ขาว ม่วงอมฟ้า และส้ม ดอกใช้ประโยชน์ได้ทั้งสดและแห้ง
การปลูก
เนื่องจากบานไม่รู้โรย เป็นดอกไม้ที่ปลูกง่ายและไม้ต้องการพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์มากนักหรือปลูกในดินชนิดใดก็งอก
แต่ทั้งนี้ควรใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีลงไปในดินบ้าง เพื่อการเจริญเติบโตและดอกจะได้มีคุณภาพดีดียิ่งขึ้น
การเก็บดอกมาทำแห้งไม่ควรเก็บช้าเกินไป เพราะดอกจะไม่ได้ขนาดและสีซีด การตัดก็ควรให้มีก้านดอกติดไปด้วยยาวประมาณ
5-12 นิ้ว ลิดใบออก มัดรวมกันไว้ในที่ร่ม
การขยายพันธุ์
นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ซึ่งง่าย สะดวก รวดเร็ว การเพาะควรนำเมล็ดมาแช่น้ำประมาณ 3-4 ชม.
แล้วนำไปเพาะในกระบะ กลบด้วยวัสดุเพาะ จากนั้นประมาณ 8-10 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกเป็นเริ่มต้นอ่อน
โรคและแมลง
ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ใบและต้น ได้แก่ โรคใบจุดและโรคแอนแทรกโนส โรคทั้งสองชนิดเกิดจากเชื้อราและระบาดในช่วงฤดูฝน
ฉะนั้นผู้ปลูกควรฉีดพ่นยาป้องกันเชื้อราไว้ก่อนเป็นครั้งคราว

ประวัติดอกบานชื่น



ข้อมูลทั่วไป
ชื่ออื่น -ชื่อวิทยาศาสตร์ Zinnia Violacea Cavชื่อสามัญ Z. elegans Jacqถิ่นกำเนิด เม็กซิโกลักษณะทั่วไป ไม้ดอกอายุหลายปีพุ่มสูง 0.45-1 เมตร ลำต้นตรงสีเขียวอมเหลืองหรือม่วงมีขนสีขาวเส้นยาวอ่อนนุ่มแนบผิวลำต้น ใบรูปใบหอกหรือไข่แกมขอบหนามปลายแหลม โคนมน ผิวใบมีขนหยาบ ก้านใบสั้น ดอกออกเป็นช่อกระจุก มีทั้งดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน ขนาด 4-10 เซรติเมตร กลีบดอกวงนอกรูปขอบหนาม สีขาวนวล เหลือง ชมพู ส้ม ม่วง แดง และสองสีในดอกเดียวกันกลีบดอกวงในรูปหลอด สีเหลือง ดอกมีรูปทรงและการเรียงกลีบดอกหลายแบบ เมล็ดขนาดใหญ่ 100-200 เมล็ดขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด โดยกลบเมล็ดบาง ๆ เมล็ดงอกภายใน 10-20 วันเวลาเพาะ-ออกดอก 60-90 วันสภาวะที่เหมาะสม แสงแดดจัด ดินปลูกระบายน้ำดี ประโยชน์ ไม้ตัดดอก ไม้กระถาง ไม้ประดับแปลง
ภาพลายเส้น
ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ
ประเภทของดอกไม้ ช่อกระจุกเล็กประเภทของต้นไม้ ไม้ล้มลุกแหล่งที่พบ ร้อนชื้น น้ำระบายได้ดีไม่ชอบน้ำขังการบานของดอก บานสลับทีละดอกตำแหน่งการเกิดดอก ปลายยอดแตกกิ่งออกตามซิกใบ และที่ยอดสุดกลีบดอก (สี,จำนวน,ขนาด) มีหลายสี เช่น ชมพู บานเย็น แดง เหลือง ขาว มี 20-30 กลีบขนาด1-4 ซ.ม.จำนวนกลีบเลี้ยง (สี) สีเขียวจำนวนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดดอกเกสรตัวผู้ (จำนวน,ขนาด,ลักษณะ) จะเป็นสีเหลืองอยู่เป็น กระจุกตรงกลางดอกมีจำนวนมากเกสรตัวผู้ จะเห็นชัดเจนเพราะอยู่ด้านบนเกสรตัวเมียจำนวน,ขนาด,ลักษณะ) จะอยู่กับกลีบประดับ จำนวนเท่ากับกลีบประดับจะเห็นอันเล็ก ๆ โผ่ออกมานิดเดียวจากลีบดอกกลิ่น มีกลิ่น

ประวัติดอกรักแท้


ประวัติของดอกรักแท้เป็นดอกไม้ที่แทนความหมาย ถึง รักแท้ ความหลงใหล ความชอบ สำหรับชื่อของดอกไม้ดอกนี้ มีที่มาจาก ตำนานว่า มีอัศวินฝรั่งเศสผู้หนึ่งรักอยู่กับนางใน และในวันหนึ่งขณะที่อัศวินเอื้อมมือไปเด็ดดอกไม้ที่ริมน้ำ เพื่อ มอบให้กับหญิงสาว อัศวินก็ได้ผลัดตกลงไปในน้ำ แต่ก่อนที่จะจมน้ำหายไปนั้น อัศวินก็ได้โยนดอกไม้ขึ้นมาให้เธอ พร้อมกับตะโกนว่า "อย่าลืมฉัน" ต่อมาจึงได้เรียกดอกไม้ดอกนี้ว่า ดอกฟอเก็ตมีน็อต หรือ ดอกอย่าลืมฉัน Forget-me-not

ประวัติดอกราตรี


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cestrum Nocturnumวงศ์ : solanaceaeชื่อสามัญ : Night Jessamineชื่ออื่น ๆ : Lady of the Night ,ราตรี, หอมดึกข้อมูลทั่วไปและประวัติราตรีเป็นดอกไม้ ที่มีกลิ่นหอมในเวลากลางคืนเมื่อมีดอกมันจะส่งกลิ่นไปไกล กลิ่นไม่ฉุนจนเกินไป มีกลิ่นเย็นเรื่อย ๆ ทำให้ได้อีกชื่อหนึ่งว่า หอมดึก ส่วนมากนิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือน มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะอินดีสลักษณะทางพฤกษศาสตร์ราตรีเป็นไม้พุ่มขนาดย่อม ลำต้นมีเปลือกเป็นสีเทาอ่อน ๆ แตกกิ่งก้านสาขามาก พุ่มใบหนาต้นและใบมีกลิ่นเหม็นเขียวจัด ใบอ่อนบางรูปมนรี ปลายใบแหละโคนเรียวแหลม ขนาดใบยาวประมาณ 5-6 นิ้ว ดอกออกเป็นช่อสีขาวอมเขียว ดอกมีขนาดเล็กและออกจับกลุ่มติดกันมากมายในช่อหนึ่ง ๆ ปลายดอกบานออกเป็นรูปดาว 5 แฉก ขนาดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 0.5 ซม. ยาวประมาณ 2 ซม. ดอกราตรีมีกลิ่นหอมจัดในเวลากลางคืน พอเช้าดอกที่บานจะหมดกลิ่นและจะหอมใหม่ในคืนต่อไป ออกดอกคราว ๆ หนึ่ง ประมาณ 5-7 วันการขยายพันธุ์-การชำกิ่ง-ตอนกิ่งการปลูกและการดูแลรักษา-ราตรีในช่วงปักชำกิ่งหรือปลูกลงกระถางใหม่ ๆ ควรปลูกในที่ร่มรำไร หลังจากนั้นเมื่อตั้งตัวได้แล้วค่อยนำไปไว้กลางแจ้ง-ราตรีชอบดินชื้นและอยู่ได้ในสภาพค่อนข้างแฉะ-ต้องการน้ำมาก

ประวัติดอกลิลลี่


ดอกลิลลี่
เมื่อกล่าวถึงดอกลิลลี่ ดอกไม้ที่ถูกยกย่องให้เป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ สดใส และไร้เดียงสา เราจึงมักนึกถึง ช่วงฤดูหนาวที่ปกคลุมไปด้วยปุยหมอก นึกถึงงานที่เป็นที่รื่นรมย์ งานสังสรรค์ นั่นเพราะโดยปรกติแล้ว เรามักจะพบเห็นดอกลิลลี่ เป็นส่วนประกอบของงานเหล่านั้นเสมอ ดอกลิลลี่เป็นดอกไม้ที่มีหลากหลายสี ซึ่งแต่ละสีของดอกลิลลี่นั้น ยังแฝงไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้ง ทำให้ดอกลิลลี่เป็นดอกไม้ ที่มีความต้องการสูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของดอกไม้ทั้งหมด

รู้จักดอกลิลลี่
ดอกลิลลี่เป็นดอกไม้อีกชนิดหนึ่ง ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน เป็นดอกไม้อีกชนิดหนึ่ง ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เคยถูกพบเป็นภาพวาดบนผนัง และกำแพงในราชสำนักกรีกโบราณ เป็นดอกไม้เมืองหนาว ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน และตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น เป็นไม้ดอกประเภทหัว ที่ดอกมีหลากหลายสี ดอกมีขนาดใหญ่ และบางชนิดมีกลิ่นหอมมาก ใช้เป็นได้ทั้งไม้ตัดดอกและไม้ที่ปลูกในกระถาง ชนิดที่นิยมปลูกมากที่สุด คือ ลิลลี่ปากแตร ลักษณะดอกเป็นดอกสีขาว รูปทรงของดอกคล้ายปากแตร ดอกมีกลิ่นหอม นอกจากดอกลิลลี่จะเป็นดอกไม้ที่มีความสง่า และสวยงามแล้ว ด้วยคุณสมบัติหลาย ๆ อย่าง จึงทำให้ดอกลิลลี่เป็นดอกไม้ที่เป็นที่นิยม ที่มีราคาแพงมากที่สุดชนิดหนึ่ง

ประวัติดอกชบา


ดอกชบา
ดอกไม้ประจำจังหวัด ปัตตานี
ชื่อสามัญ Shoe flower
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus spp.
วงศ์ MALVACEAE
ชื่ออื่น Hibiscus, Rose of China
ลักษณะทั่วไป เป็นไม้พุ่มเตี้ย ดอกมีทั้งซ้อน และไม่ซ้อน มีสีต่างๆ กัน เช่น สีแดง สีเหลือง สีขาว สีชมพู สีงาช้าง มีทั้งดอกโต และดอกเล็ก ใบเป็นใบเดี่ยว รูปมน ขอบใบเป็นรอยหยัก ปลายใบแหลม ชบาเป็นไม้เนื้ออ่อนมีเปลือกไม้ค่อนข้างเหนียว
การขยายพันธุ์ โดยการตอนกิ่ง หรือปักชำ
สภาพที่เหมาะสม ดินร่วยซุย แสงแดดปานกลาง
ถิ่นกำเนิด เขตร้อน จีน, อินเดีย และฮาวาย
ชบาไทย
ชบาเป็นไม้พุ่มขนาด 1-3 เมตร อาจสูงได้ถึง 7-10 เมตร ใบรูปไข่กว้าง ปลายใบแหลมเรียว ขอบใบจักหรือขอบใบเรียบ ดอกออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ก้านดอกยาว กลีบรองดอกมี 2 ชั้น สีเขียว ดอกมีทั้งดอกลาและดอกซ้อน มีหลายสี มีทั้งดอกใหญ่และดอกเล็ก ถ้าดอกลาจะมี 5 กลีบ เกสรตัวผู้เป็นดอกยาวยื่นขึ้นมากลางดอก ปลายสุดเป็นยอดเกสรตัวเมีย แยกเป็น 5 แฉกสีแดง เกสรตัวผู้ติดรอบๆ ดอกเป็นสีเหลือง ออกดอกตลอดปี
การปลูกและดูแลรักษา
1. ชบาไม้ดอกที่ปรับตัวเจริญเติบโตได้ทุกสภาพแวดล้อม แต่ที่เหมาะสมคือสภาพอากาศอบอุ่นจนถึงร้อน ดินปลูกควรเป็นดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ไม่มีน้ำขังแฉะ การให้น้ำควรให้สม่ำเสมอ ถ้าขาดน้ำจะสลัดใบล่างทิ้งอย่างรวดเร็ว
2. แสง ชอบแสงแดดมาก
3. น้ำต้องการน้ำพอประมาณ
4. ดินเป็นไม้ที่ปลูกได้ง่ายสามารถเจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ไม่ควรให้ดินเปียกหรือแฉะเกินไป
5. ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก
6. โรคและแมลง ไม่ค่อยมีโรค จะมีก็แต่เพลี้ยที่รบกวนอยู่
7. การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นด้วยยามาลาไธออนหรือไดอาซินอน ตามคำแนะนำที่ระบุไว้ในฉลาก

สรรพคุณทางยา
1. ในคัมภีร์อายุรเวท พูดถึงสรรพคุณของดอกชบาว่า ช่วยฟอกโลหิต บำรุงจิตใจให้แช่มชื่น บำรุงผิวพรรณ นอกจากนี้ยังช่วยรักษาและบรรเทาโรคเกี่ยวกับไต และโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง เช่น เสียเลือดประจำเดือนมากเกินไป ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ รวมทั้งปัญหาเรื่องระดูขาว
2. ไม่เพียงแต่ดอกชบาเท่านั้นที่ใช้เป็นยาดีของอินเดีย ส่วนอื่นๆของชบายังใช้เป็นยารักษาโรคได้ด้วย อย่างเช่น เปลือกต้นชบาใช้รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา ใบชบาใช้แก้แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก บำรุงผม
3. ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มีระดูขาว - นำดอกชบาสด 4 ดอกมาตำให้แหลก แล้วกินตอนท้องว่างในตอนเช้าติดต่อกัน 7 วัน นำดอกชบามาตากให้แห้งในที่ร่ม เมื่อแห้งสนิทดีแล้ว เอามาบดเป็นผง กินครั้งละ 1 ช้อนชาตอนเช้าติดต่อกันนาน 7 วัน
4. ประจำเดือนไม่มา ใช้ดอกชบา 3 ดอกบดให้แหลก แล้วผสมกับน้ำมะนาวสัก 2 ช้อนโต๊ะ หรือผสมกับนม 1 แก้ว แล้วดื่มตอนท้องว่างตอนเช้า จะช่วยปรับเรื่องประจำเดือนได้ เอาเฉพาะกลีบดอกชบาผสมกับน้ำตาลอ้อยหรือน้ำตาลปี๊บอย่างละเท่าๆ กันใส่ในโถแก้วมีฝาปิด แล้วเอาโถแก้วออกตากแดดติดต่อกันสัก 21 วัน น้ำตาลจะละลายผสมกับดอกชบา พอครบกำหนดแล้วเอามากินครั้งละ 2 ช้อนชา วันละ 2 ครั้ง นานสองถึงสามสัปดาห์ ยาสูตรนี้ถือว่า เป็นยาบำรุงประจำเดือน
5. ดับร้อนและแก้ไข้ - ใช้ดอกชบา 4 ดอกแช่ในน้ำต้มสุก 2 แก้ว แล้วดื่มต่างน้ำ จะช่วยดับร้อนผ่อนกระหายและแก้ไข้ได้ดี
6. รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา เช่น ฮ่องกงฟุต - ใช้เปลือกต้น 50 กรัม แช่ในแอลกอฮอล์ 150 ซีซี นานหนึ่งวัน แล้วกรองเอาแต่น้ำยาไว้ทาบริเวณที่เป็นฮ่องกงฟุต
7. รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก - ใช้ใบชบาหรือฐานดอกก็ได้มาตำให้แหลก แล้วเอามาพอกบริเวณที่ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก น้ำเมือกจากใบจะช่วยรักษาแผลได้เป็นอย่างดี
8. บำรุงผม - ใช้ใบชบาหนึ่งกำมือมาล้างให้สะอาด ตำให้แหลก เติมน้ำเล็กน้อย แล้วคั้นเอาแต่น้ำ กรองเอากากทิ้ง แล้วใช้น้ำเมือกจากใบชบาสระผม ช่วยชำระล้างสิ่งสกปรก และบำรุงเส้นผมให้ดกดำเป็นเงางาม

ประวัติดอกลีลาวดี


ชื่อวิทยาศาสตร์Plumeria spp.ตระกูลApocynaceaeชื่อสามัญFrangipani,Pagoda,Templeถิ่นกำเนิดเม็กซิโกใต้ถึงตอนเหนือทวีปอเมริกาใต้ลักษณะทั่วไปลีลาวดี เป็นไม้ยืนต้น มีขนาดจากที่เป็นพุ่มเตี้ยแคระสูงประมาณ0.6 เมตร จนถึงต้นใหญ่มากอาจที่สูงได้ถึง 12 เมตร ลำต้นแผ่กิ่งก้านสาขาและพุ่มใบสวยงาม มีน้ำยางขนสีขาวเป็นพันธุ์ไม้ที่สลัดใบในฤดูแล้งก่อนที่จะผลิดอกผลิใบรุ่นใหม่ชนิดและพันธุ์ที่มีลักษณะดี ต้องมีทรงพุ่มแน่น มีกิ่งก้านสาขามาก ใบดกที่ปลายกิ่ง มีช่อดอกใหญ่ กิ่งที่ยังไม่แก่มีสีเขียวออ่นนุ่ม กิ่งที่แก่มีสีเทามีรอยตะปุ่มตะป่ำ ใบ เป็นใบเดี่ยวมีการเรียงตัวสลับกันและหนาแน่นใกล้ๆปลายกิ่ง มีตั้งแต่สีเขียวอ่อนถึงเขียวเข้ม มีเส้นกลางใบแตกสาขาออกไปคล้ายขนนก ขนาดใบแตกต่างกันตั้งแต่ 5-20 นิ้ว ช่อดอก จะถูกผลิตออกมาจากปลายยอดเหนือใบแต่กก็มีบางชนิดที่ออกช่อดอกระหว่างใบหรือออกดอกใต้ใบ ช่อดอกบางชนิดตั้งขึ้น บางชนิดห้อยลง ใน 1 ช่อดอกจะมีดอกบานพร้อมกัน 20-30 ดอก บางต้นสมบูรณ์เต็มที่อาจมีดอกมากกว่า 100 ดอก ต่อ 1 ช่อ ดอกโดยทั่วไป กลีบดอกมี 5 กลีบ เกสรตัวผู้ เกสรตัวเมีย อยู่ลึกเข้าไปข้างใน ดอกของ ลีลาวดีมีสีสรรหลากหลาย ทั้ง ขาว แดง เหลือง ชมพู ส้ม ม่วง สีทอง มีกลิ่นหอมต่างๆกันไปในแต่ละชนิด ดอกมีขนาด 2 - 6 นิ้ว มีกลิ่นหอม ผล เป็นฝักคู่ รูปยาวรี กว้างประมาณ 1.5 - 15 ซม. เมื่อแก่แตกเป็น 2ซีก เมล็ดมีจำนวนมาก เมล็ดแบนมีปีก ลีลาวดีมีช่วงชีวิตที่ยาวนานนับ 100 ปีฤดูกาลออกดอกออกดอกระหว่างเดือนกุมภาพันธุ์-เมษายน บางพันธุ์ออกดอกตลอดปี เช่น ขาวพวงสภาพการปลูกลีลาวดี เป็นไม้กลางแจ้ง ชอบแสงแดด ทนต่อความแห้งแล้ง ไม่ชอบน้ำมาก ดินที่เหมาะสมในการปลูกลีลาวดี ควรมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย ส่วนดินเหนียวหรือดินที่มีเนื้อดินละเอียดหนักซึ่งน้ำขังง่าย จะทำให้รากเน่า โคนเน่าได้ ลีลาวดีจะเจริญเติบโตในที่ที่มีแสงแดดส่องถึงหากไม่ได้รับแสงแดดเต็มที ก็จะไม่ออกดอก แต่บางพันธุ์ก็ไม่ต้องการแสงแดดจัดในช่วงบ่ายการขยายพันธุ์ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด,การปักชำกิ่งการขยายพันธุ์แบบนี้จะไม่มีรากแก้ว,การเสียบยอดพันธุ์ดีสามารถทำให้ในหนึ่งต้น เสียบยอดให้ได้ดอกหลายสีได้ ,และการขยายพันธุ์โดยการติดตาการปลูกและดูแลรักษาการปลูกในกระถางลีลาวดีจะตอบสนองต่อวัสดุปลูกที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี มีอินทรีวัตถุและได้รับปุ๋ยเสริมตามความเหมาะสม สัดส่วนที่ปลูกนกระถางโดยทั่วไป 50% มูลวัวที่ย่อยสลายดีแล้ว 25% ใบไม้ผุ 25% ดิน การให้น้ำ ใส่น้ำให้ดินในกระถางให้เปียกทั่วถึง จนน้ำส่วนเกินระบายออกทางรูระบายน้ำ แล้วปล่อยให้วัสดุปลูกแห้งก่อนให้น้ำครั้งต่อไปซึ่งอาจจะเป็นอาทิตย์ละ2ครั้ง หรือถ้าช่วงแล้งจัดๆ อาจเป็นวันเว้นวัน อย่างไรก็ตาม ควรตรวจสอบความชื้นวัสดุปลูกอย่างสม่ำเสมอ แต่วัสดุปลูกที่มีขนาดเล็กละเอียด เมื่อถึงระยะหนึ่งจะอัดตัวแน่นและรากจะไม่สามารถเจริญผ่านจุดนี้ไปได้น้ำก็จะขังไม่สามารถระบายน้ำได้ในที่สุดจะทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าได้การปลูกลงดินในแปลงปลูกดินควรเป็นดินร่วนปนทราย ส่วนดินเหนียวหรือดินที่มีเนื้อดินละเอียดหนักซึ่งน้ำขังง่ายไม่เหมาะที่จะใช้ในการปลูก ดินควรมีมาณอินทรียวัตถุที่เหมาะสม สามารถดูดยึดความชื้นได้ดี ในขณะเดียวกันต้องมีการระบายน้ำได้ดี การให้น้ำ ในการปลูกลงดินให้น้ำแต่นอ้ยให้ปริมาณสัปดาห์ละครั้ง ขึ้นอยูรกับสภาพความชื้นอากาศด้วย ถ้าอากาศร้อนแห้งแล้ง ก็ต้องให้น้ำบ่อยกว่าปกติเพื่อรักษาความเขียวของใบ แต่ให้น้ำมากเกินไปก็จะมีการเจริญเติบโตทางกิ่งก้านมากและทำให้ไม่ออกดอกการให้ปุ๋ยลีลาววดีจะเจริญเติบโตงอกงามได้ดีที่สุดในปุ๋ยทีมีไนโตรเจนต่ำ ฟอสฟอรัสสูง และโพแทสเซียม ในปริมาณที่เพียงพอ เนื่องจากธาตุฟอสฟอรัสจะกระตุ้นการออกดอก โดยทั่วไปลีลาวดีจะแตกกิ่งกานเมื่อมีดอก ดังนั้นต้องให้ปุ๋ยที่ส่งเสริมการออกดอกซึ้งเมื่อออกดอกมากก็หมายถึงจะมีกิ่งก้านสาขามากตามมา ส่วนธาตุไนโตรเจนจะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของลำต้น กิ่งก้าน ใบ แต่ถ้าได้รับมากเกินไป จะทำให้มีใบมากเกินไป และไม่มีดอก นอกจากนั้นยังต้องได้รับธาตุอาหารรองได้แก่ แคลเซี่ยมและกำมะถัน โดยเฉพาะธาตุแมกนีเซียม เพื่อป้องกันโรคใบไหม้รวมทั้งธาตุอาหารจุลธาตุที่เพียงพอ ได้แก่ ธาตุเหล็ก อลูมิเนียมทองแดง แมงกานีส โมลิบดินัม โบรอน และคลอไรด์ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก ซึ่งช่วยป้องกันอาการใบซีด

ประวัติดอกดาวเดือง



ชื่อพฤกษาศาสตร์
วงศ์
ถิ่นกำเนิด
วรรณคดีที่กล่าวถึง
การขยายพันธุ์
ลักษณะ
Tagetes erecta
COMPOSITAE.
อเมริกาใต้และประเทศเม็กซิโก
นิราศธารทองแดง
การเพาะเมล็ด
เป็นไม้ล้มลุก มีต้นเป็นพุ่ม สูงประมาณ 3 - 4 ฟุต ปลายใบเป็นจัก ดอกมีทั้งดอกซ้อนและไม่ซ้อน มีอยู่หลายสี เช่น สีเหลือง ส้ม แสด สีขาว ตามพันธุ์ เมื่อออกดอกแล้วต้นเดิมจะตาย
ดาวเรืองเป็นพืชที่อยู่ในสกุล Tagetes ซึ่งเป็นชื่อเทพ ของชาว Etruscan ดาวเรืองเป็นดอกไม้ที่นิยมอย่างมากในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ เม็กซิโก ในเอเชียใต้จะใช้ดาวเรืองสำหรับพิธีกรรมทางศาสนาฮินดู ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมใช้บูชาทางศาสนาพุทธและพิธีมงคลต่างๆ ในเม็กซิโกจะใช้ดอกดาวเรืองในเทศกาลวันแห่งความตายเพื่อระลึกถึงวิณญาณบรรพบุรุษพืชในจีนัสเดียวกับดาวเรืองมีประมาณ 50 Species มีทั้งพวกล้มลุก และ พวกยืนต้นอยู่ได้หลายฤดู พืชสกุล Tagetes ในธรรมชาติ พบแพร่กระจายพันธุ์ตามพื้นที่ร้อน และแห้งแล้ง ตามพื้นที่ลาดชัน และก้นหุบเขา แถบ New Mexico ไปจนถึงประเทศอาร์เจนติน่าและมี 1 Species พบที่แอฟริกาTagetes erecta (ดาวเรืองอเมริกัน), Tagetes patula (ดาวเรืองฝรั่งเศส) และ Tagetes tenuifolia (ดาวเรือง signet) โดยทั้งหมดมาจากทวีปอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเม็กซิโก ดาวเรืองอเมริกัน สามารถผสมเข้ากับดาวเรืองฝรั่งเศสได้ และให้ลูกผสมที่เป็นหมันTagetes erecta ถูกซื้อจากแถวชายฝั่งทะเล แอฟริกา โดยนักบวชชาวสเปนใน ศตวรรษที่ 17 เมื่อมาถึงแอฟริกาแล้วได้ปลูกในธรรมชาติ และพบในป่าโดยพ่อค้าชาวอังกฤษแล้วเขาก็นำไปที่อังกฤษ ดังนั้นจึงถูกเรียกว่า ดาวเรืองแอฟริกัน ดาวเรืองฝรั่งเศสก็มีที่มาเหมือนกัน แต่เมื่อมาจากแอฟริกาแล้วมาที่ฝรั่งเศส จากนั้นก็มาที่อังกฤษ ดังนั้นจึงเรียกว่า ดาวเรืองฝรั่งเศสในประเทศไทย มีการปลูกดาวเรืองทั่วทุกภาคของประเทศมานาน จนคล้ายกับว่าเป็นพืชพื้นเมือง ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีการนำเข้ามาปลูกครั้งแรกเมื่อไหร่ ชื่อของดาวเรืองจะเรียกแตกต่างกันไป ในแต่ละภาค แต่มีความหมายคล้ายกัน โดยเรียกตามสีและลักษณะดอก ภาคกลางเรียกว่า ดาวเรือง ภาคเหนือเรียกว่า คำปู้จู้ โดยที่คำแปลว่า ทอง ส่วน ปู้จู้แปลว่า กระจุกแน่น ส่วนดาวเรืองลูกผสม พบว่า ได้มีการสั่งเมล็ดพันธุ์จากประเทศเนเธอร์แลนด์เข้ามาปลูกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี พ.ศ. 2510 จำนวน 4 พันธุ์ คือ Hybrid, Toreador, Double Eagle, Doubloon และ Sovereign ซึ่งแต่ละพันธุ์มีการเจริญเติบโตดี เหมาะที่จะปลูกเป็นไม้ตัดดอกและไม้ประดับ ยกเว้นพันธุ์ Doubloon โดยที่ก้านไม่ค่อยแข็งแรง ต่อมาจึงมีการสั่งเมล็ดพันธุ์ลูกผสมจากต่างประเทศมาปลูกเรื่อยมา ส่วนใหญ่จะปลูกทางภาคกลางและภาคเหนือ โดยช่วงแรกนำมาปลูกทดลองในสถานศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการคัดพันธุ์ที่เหมาะสม ที่จะปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับและใช้ผสมในอาหารเลี้ยงไก่ จากนั้นจึงได้มีการเผยแพร่การปลูกดาวเรือง ไปสู่เกษตรกรและบุคคลทั่วไปประมาณปี พ.ศ. 2522-2524 ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเฉพาะการปลูกเป็นไม้ตัดดอก ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตเป็นไม้ตัดดอก จำหน่ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา

ประวัติดอกทิวลิป


ภาษาดอกไม้
โบราณกาลนั้นถือว่าดอกไม้คือสัญลักษณ์ ในบทประพันธ์คลาสสิคมักจะกล่าวถึงดอกไม้ในทางเปรียบเปรยความงามของหญิงสาว หรือสื่อสัญลักษณ์ของความรักผ่านถ้อยคำที่พรรณนาถึงดอกไม้ แม้แต่ William Shakespear การเขียนถึงดอกไม้ก็มักจะถูกเขียนสอดแทรกไว้ในบทประพันธ์ของเขาเสมอ
ดอกทิวลิป หมายถึงการฝากรักให้อีกฝายรับรู้ แต่สำหรับทิวลิปสีเหลืองจะมีความหมายที่ต่างไปคือรักที่สิ้นหวัง
ทิวลิปเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว
รูปใบเล็กเรียวยาว ปลายใบแหลม เส้นแขนงใบจะเป็นแนวขนานไปตามความยาวของใบ และเรียวลู่ไปรวมกันที่บริเวณปลายใบ ใบแต่ละใบจะออกสลับทิศทางตรงข้ามกัน ต้นหนึ่งๆ จะออกใบประมาณ 3-4 ใบ
ทิวลิปจะมีขนาดสูงระหว่าง 12-18 นิ้ว ซึ่งก็ต้องแล้วแต่พันธุ์และชนิดของทิวลิปแต่ละอย่าง ดอกของทิวลิปก็เช่นเดียวกัน มีหลายแบบ หลายสี และหลายขนาด
ปรกติดอกทิวลิปจะเป็นดอกไม้รูปถ้วย ยามบานไม่บานแฉ่ง แต่จะบานเพียงแค่แย้มๆ กลีบออก ให้รู้ว่าเป็นดอกทิวลิปที่บานแล้ว แต่อย่างบายแฉ่งก็มีบ้าง เหมือนกัน เช่น พวกดอกทิวลิปซ้อนหลายๆ ชั้น
ดอกทิวลิปจะมีกลีบดอกซ้อนกันเพียง 2 ชั้นๆ ละ 3 กลีบ กลีบดอกของทิวลิปมีสีสันต่างๆ มากมายหลายเฉดสี นับตั้งแต่สีแสด แดง ส้ม เหลืองเข้ม เหลือง เหลืองอ่อน ชมพู ขาว และสีสลับลายหลายอย่าง มีทั้งสีเดียวล้วนๆ และสีผสมในดอกเดียว หรือที่เรียกว่า ”Broken Tulips” เกสรผู้เป็นสีเหลืองอ่อน หรือขาวเป็นแท่งรูปหัวศรมี 6 เส้น เกสรเมียมีขนาดโตกว่าเกสรผู้ อยู่กึ่งกลางเกสรผู้ เป็นลักษณะแท่งรูปสามเหลี่ยมยาว 2 - 2.5 เซนติเมตร ( ซึ่งมีขนาดยาวไล่เลี่ยกับเกสรผู้ ) ปลายเกสรเมียแต่ละเหลี่ยม งอลงเป็นสามแฉก ส่วนที่ปลายเกสรผู้บางพันธุ์อาจจะเป็นติ่งสีน้ำตาลเข้ม หรือสีดำก็มี
ทิวลิปเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว รูปใบเล็กเรียวยาว ปลายใบแหลมเส้นแขนงใบจะเป็นแนวขนานไปตามความยาวของใบ และเรียวลู่ไปรวมกันที่บริเวณปลายใบใบแต่ละใบจะออกสลับทิศทางตรงข้ามกัน ต้นหนึ่งๆ จะออกใบประมาณ ใบโดยปรกติทิวลิปจะมีขนาดสูงระหว่าง นิ้วซึ่งก็ต้องแล้วแต่พันธุ์และชนิดของทิวลิปแต่ละอย่าง ดอกของทิวลิปก็เช่นเดียวกันมีหลายแบบ หลายสี และหลายขนาด แต่โดยปรกติดอกทิวลิปจะเป็นดอกไม้รูปถ้วยยามบานไม่บานแฉ่ง แต่จะบานเพียงแค่แย้มๆ กลีบออก ให้รู้ว่าเป็นดอกทิวลิปที่บานแล้วแต่อย่างบายแฉ่งก็มีบ้าง เหมือนกัน เช่น พวกดอกทิวลิปซ้อนหลายๆ ชั้นปรกติดอกทิวลิปจะมีกลีบดอกซ้อนกันเพียง ชั้นๆ ละ กลีบกลีบดอกของทิวลิปมีสีสันต่างๆ มากมายหลายเฉดสี นับตั้งแต่สีแสด แดง ส้ม เหลืองเข้มเหลือง เหลืองอ่อน ชมพู ขาว และสีสลับลายหลายอย่าง มีทั้งสีเดียวล้วนๆและสีผสมในดอกเดียว หรือที่เรียกว่า เกสรผู้เป็นสีเหลืองอ่อนหรือขาวเป็นแท่งรูปหัวศรมี เส้น เกสรเมียมีขนาดโตกว่าเกสรผู้ อยู่กึ่งกลางเกสรผู้เป็นลักษณะแท่งรูปสามเหลี่ยมยาว เซนติเมตร (ซึ่งมีขนาดยาวไล่เลี่ยกับเกสรผู้ ) ปลายเกสรเมียแต่ละเหลี่ยม งอลงเป็นสามแฉกส่วนที่ปลายเกสรผู้บางพันธุ์อาจจะเป็นติ่งสีน้ำตาลเข้ม หรือสีดำก็มี



ที่มา

http://www.phtnet.org/research/perishable-ornamental-plant.asp?id_name=g013

ชื่อสามัญ : ทิวลิป (tulip)ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tulipa spp. L.ตระกูล : Liliaceae
ทิวลิป เป็นดอกไม้เมืองหนาวที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของฮอลแลนด์ มีอยู่หลายสี ดอกทิวลิปจะปลูกได้ต้องใช้อุณหภูมิที่เหมาะสม คือไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส ดอกทิวลิป สามารถปลูกได้เฉพาะพื้นที่ ที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นเท่านั้น ... ตามปกติ ทิวลิปจะเจริญได้ดีในอุณหภูมิที่เหมาะสมเฉลี่ย 18-20 องศาเซลเซียส ใช้ระยะเวลาในการ ปลูก 39 วัน ดอกจึงจะบาน เมื่อดอกบานแล้วจะสามารถอยู่ได้นานเพียง 7 ถึง 15 วัน การปลูกในประเทศไทยดอกทิวลิป สามารถปลูกได้เฉพาะพื้นที่ ที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นเท่านั้น แต่จากการทดลองปลูกทิวลิปที่ ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงดอยผาหม่น อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงจังหวัดเชียงราย สำนักส่งเสริมการเกษตรเขต 6 กรมส่งเสริมการเกษตร พบว่าทิวลิปที่สามารถนำมาปลูกในบ้านเรามี 20 สายพันธุ์ แต่ในครั้งนี้ปลูกเพียง 6 สายพันธุ์ คือ Christmas Sweet (สีขาว) LLe de Srance (สีแดง) Aaske (สีชมพู) Leen Vd Nark (สีแดงเข้ม) Negrita (สีม่วง) และ Strong gold (สีเหลืองทอง)ตามปกติทิวลิปจะ เจริญได้ดีในอุณหภูมิที่เหมาะสมเฉลี่ย 18-20 องศาเซลเซียส ใช้ระยะเวลาในการปลูก 39 วัน ดอกจึงจะบาน เมื่อดอกบานแล้วจะสามารถอยู่ได้นานเพียง 7 ถึง 15 วัน....หากนำลงไปจากดอยดอกก็จะอยู่ได้เพียง 1 สัปดาห์ เท่านั้น สำหรับดอกทิวลิปบานที่ลานผาหม่นเต็มที่ในช่วงวันที่ 16 ธันวาคม และหากมีการควบคุมแสงอุณหภูมิได้อย่างเหมาะสมก็จะทนอยู่ในแปลงได้ 10 วัน ถึง 2 สัปดาห์ สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ นายไชยณรงค์ สวยงาม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 6 ว ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง ดอยผาหม่น ผู้เชี่ยวชาญการปลูกทิวลิปและลิลลี่ ซึ่งเคยผ่านการศึกษาจากประเทศฮอลแลนด์ โทร. 0-5367-8202การปลูกทิวลิปในเขตกรุงเทพเนื่อง จากกรุงเทพมีสภาพอากาศร้อน จึงต้องปลูกทิวลิปในโรงเรือนที่ใช้ตาข่ายพรางแสง 60 เปอร์เซ็นต์ มามุงหลังคาถึง 2 ชั้น ด้านข้างโรงเรือนก็ใช้ตาข่ายพรางแสง 2 ชั้นเช่นกัน แต่จะเปิดให้สามารถระบายอากาศได้ ส่วนด้านในโรงเรือนจะควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ 25-26 องศาเซลเซียส โดยติดตั้งสเปรย์พ่นหมอกไว้ใต้หลังคา และติดตั้งพัดลมไว้ด้านข้าง เพื่อเปิดพ่นความเย็นในโรงเรือนต้องปลูกทิวลิปในตระกร้าพลาสติก ใช้ขุยมะพร้าวสับเป็นวัสดุปลูก วางหัวพันธุ์ลงบนขุยมะพร้าว แล้วโรยทับด้วยขุยมะพร้าวอีกชั้นหนึ่ง รดน้ำให้ชุ่ม นำไปวางเรียงกันเป็นแถวยาว ดูแลรดน้ำ 3 วันต่อครั้ง เพื่อให้ขุยมะพร้าวมีความชื้นที่เหมาะสม ประมาณ 8 เดือน ต้นทิวลิปก็จะทยอยออกดอก ภายในโรงเรือนซึ่งต้องพ่นสเปรย์หมอกอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้หัวพันธุ์มีโอกาสเน่าได้ง่าย เกษตรกรจึงทำหลังคาโค้งคลุมไว้อีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันโรคหัวเน่า และไม่ใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีบำรุงเพื่อเร่งการเจริญเติบโต ดอกทิวลิปที่ได้จึงปลอดสารพิษ

ประวัติดอกบัว


บัว เป็นพืชน้ำล้มลุก ลักษณะลำต้นมีทั้งที่เป็นเหง้า ไหล หรือหัว ใบเป็นใบเดี่ยวเจริญขึ้นจากลำต้น โดยมีก้านใบส่งขึ้นมาเจริญที่ใต้น้ำ ผิวน้ำหรือเหนือน้ำ รูปร่างของใบส่วนใหญ่กลมมีหลายแบบ บางชนิดมีก้านใบบัว
บัวเป็นราชินีแห่งไม้น้ำ จัดเป็นพันธุ์ไม้น้ำที่ถือเป็นสัญญลักษณ์ของคุณงามความดี บัวหลวงชอบขึ้นในน้ำจืดออกดอกตลอดปี ชอบน้ำสะอาด อยู่ในน้ำลึกพอสมควร ถิ่นกำเนิดของบัวอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จะเริ่มบานตั้งแต่ตอนเช้า ก้านดอกยาวมีหนามเหมือนก้านใบ ชูดอกเหนือน้ำ และชูสูงกว่าใบเล็กน้อย กลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ สีขาวอมเขียวหรือสีเทาชมพู ร่วงง่าย กลีบดอกจำนวนมากเรียงซ้อนหลายชั้น เกสรตัวผู้มีจำนวนหลายสี

ประวัติดอกทานตะวัน


ประวัติโดยย่อของดอกทานตะวัน ถือกำเนิดโดยการนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น นำมาปลูกที่คลองตะเคียน พระนครศรีอยุธยาในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ช่วงประมาณปี พ.ศ.๒๑๙๙ ตั้งแต่สมัยอยุธยานานมากมาแล้วต่อมาต้นทานตะวันได้มีการปลูกแพร่หลายเป็นไม้ประดับที่นิยมในประเทศไทย ทานตะวัน แปลว่า การทานกั้นขวางตะวัน หรือ ต่อต้านกั้นตะวัน หากเราสังเกตดูให้ดีจะเห็นว่าดอกทานตะวันจะหันดอกเข้าหาตะวัน (พระอาทิตย์) เสมอ จนบางคนถึงกับกล่าวว่า น่าที่จะเรียกว่า “ดอกตามตะวัน” จะเหมาะกว่า แต่ในอีกความหมายก็ว่า “ทานตะวัน” คือเป็นเหมือนกับการทนทานกับแสงแดด หรือแสงอาทิตย์ เพราะมันหันหน้าเข้าหาอยู่ตลอดเวลา จึงน่าจะแปลได้ความหมายเป็นอย่างหลังมากกว่า อีกนัยหนึ่งคือ “ไม่ถึงตะวัน” ถึงจะมีความทนทานต่อแสงอันร้อนแรงของพระอาทิตย์ แต่ก็ไม่สามารถไปถึงตะวันได้ ในเรื่องของเทวปกรฌัม ยังได้กล่าวถึงเทพธิดาองค์หนึ่งชื่อไคลที (Clytie) อาศัยอยู่ถ้ำใต้ทะเลลึก มีแต่ทราย หอยและเปลือกหอย โดยอาศัยนอนอยู่ในเปลือกหอยก้นทะเลไม่เคยขึ้นมาบนฝั่ง มีแต่คลื่นสีเขียวอยู่ใต้น้ำทะเล เนื่องจากแสงอาทิตย์ส่องลงไปไม่ถึง นางฟ้าไคลที่เป็นเทพีแห่งน้ำเกิดในน้ำหรืออาจเรียกว่าพรายน้ำก็ว่าได้อยู่อาศัยอย่างเป็นสุขสงบเรื่อยมาจนเติบโตขึ้นเป็นสาวน้อยอยู่มาจนกระทั่งวันหนึ่งเกิดมีพายุพัดกระหน่ำเข้ามาอย่างรุนแรง ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยพัดลงไปถึงข้างล่างใต้ทะเลเลย พัดอยู่เพียงพื้นผิวน้ำชั้นบนเท่านั้น แต่คราวนี้ได้เกิดพายุพัดกระหน่ำเป็นคลื่นม้วนตัวลงไปข้างใต้น้ำ แล้วพัดพาเอาสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ข้างใต้นั้นขึ้นมาอยู่ข้างบนแทน ซึ่งไคลทีก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นที่ต้องขึ้นมาอยู่บนโลกมนุษย์ เมื่อถูกคลื่นทะเลซัดขึ้นมาถึงฝั่งฟื้นคืนสติก็มองเห็นแสงแดด มองเห็นพืชพันธุ์ต้นไม้ต่างๆที่สวยงาม และที่สวยที่สุดก็คือแสงแห่งตะวันที่สาดส่องลงมาตรงบริเวณเกาะหรือตรงพื้นแผ่นดินนั้น ส่องไปทุก ๆ ที่ที่ไคลที่มอง ไคลทีเพิ่งได้มีโอกาสเห็นแสงอาทิตย์เป็นครั้งแรก ก็เกิดความรักในพระอาทิตย์ขึ้นมา คือรักเทพอพอลโล (Apollo) เพราะเห็นความงามของอพอลโล(Apollo) นางจึงปฏิญาณว่าจะไม่ลงไปสู่ใต้ทะเลอีก จะขออยู่บนเกาะตลอดไปเพื่อติดตามดูตะวันทุก ๆ วัน จะขออยู่ดูความงามแห่งพระอาทิตย์ ดูความงดงามแห่งเทพอพอลโล (Apollo) ตั้งแต่รุ่งอรุณจนยามเย็น จะหันตามดูตลอดเวลา จนกระทั่งเทวดาสงสารนางเพราะเทพอพอลโล (Apollo)ไม่เคยเหลียวแลเลยจึงได้ช่วยกันบันดาลให้ในเย็นวันหนึ่งในขณะที่ไคลทียืนมองตะวันอยู่ที่บนฝั่งทะเลให้เท้านั้นหยั่งลึกลงไปในดินเครื่องแต่งกายให้เปลี่ยนแปลง กลายเป็นสีเขียวผมจากสีทองให้กลายเป็นสีเหลืองล้อมดวงหน้าไว้แล้วให้ดวงตาที่คอยมองตามพระอาทิตย์นั้นเป็นสีน้ำตาลจึงกลายเป็นดอกทานตะวันที่สวยงามที่เฝ้ามองตามพระอาทิตย์ที่ขึ้นและลงข้ามขอบฟ้าในทุกวันๆดอกทานตะวันจึงมีรูปลักษณ์อย่างที่เราเห็นเป็นดอกไม้แสนงามในปัจจุบันนี้เอง

ประวัติดอกมะลิ


ลักษณะทั่วไป
ุ์มะลิเป็นพรรณไม้ยืนต้น และเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก จนถึงขนาดกลางบางชนิดก็มีลำต้นแบบเถาเลื้อย ลำต้นมีความสูงประมาณ1-3 เมตร ผิวเปลือกลำต้นสีขาวมีสะเก็ดรอยแตกเล็กน้อย ลำต้นเล็กกลมแตกกิ่งก้านสาขาไปรอบ ๆ ลำต้น ใบเป็นใบเดียวแตกใบเรียงกันเป็นคู่ ๆ ามก้านและกิ่งลักษณะของใบมนป้อม โคนใบสอบเรียว ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม ขนาดใบกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อ ออกตามส่วนยอดหรือตามง่ามใบดอกเล็กสีขาวมีกลีบดอกประมาณ 6-8 กลีบ เรียงกันเป็นวงกลมหรือซ้อนกันเป็นชั้นแล้วแต่ชนิดพันธุ์ ขนาดดอกบานเต็มที่ประมาณ 2-3 เซนติเมตรผลเป็นรูปกลมรีเล็กเมื่อสุกจะมีสีดำภายในมีเมล็ดอยู่1เมล็ดนอกจากนี้ลักษณะของลำต้นและดอกแตกต่างกันไปตามชนิดพันธ์
พันธ์ดอกมะลิ
มะลิลา เป็นไม้รอเลื้อย กิ่งอ่อนและกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนมีขน ใบเป็นใบเดียวออกเป็นคู่ตรงกันข้ามกัน ใบเป็นรูปไข่ขอบเรียบ ดอกออกเป็นช่อ มี 3 ดอก ดอกกลางบานก่อน กลีบดอกชั้นเดียว ปลายกลีบมน ดอกสีขาว มะลิชนิดนี้ จะใช้ในการเด็ดดอกขาย
มะลิลาซ้อน เป็นไม้พุ่มเลื้อย สูง 1-2 เมตร แตกกิ่งตำใต้ผิวดินจำนวนมาก เป็นพุ่มแน่น ปลายกิ่งตั้งขึ้น กิ่งเปราะ ใบเป็นใบเดี่ยว มักมี 3 ใบต่อหนึ่งข้อ เรียงตรงข้ามร ใบรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม สีเขียวเข้ม ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกช่อ 1-3 ดอก สีขาว ออกที่ปลายกิ่ง โคนกลีบดอกติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นกลีบจำนวนมาก ขอบกลีบเป็นคลื่น เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลาง 3- 4 เซนติเมตร ดอกบานอยู่ได้หลายวัน มีกลิ่นหอมตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ออกดอกตลอดปี
มะลิถอด ลักษณะโดยทั่ว ๆ ไป ทั้งต้น ใบ การจัดเรียงของใบ รูปแบบของใบคล้ายมะลิลาซ้อน แต่ใบเป็นคลื่น ดอกเป็นช่อมี 3 ดอก ดอกซ้อนมากชั้นกว่า คือ 3-6 ชั้น ดอกสีขาว มีกลิ่นหอมมาก ขนาดดอก 2.5-3.5 ซม.
มะลิซ้อน เป็นไม้พุ่มเลื้อย สูง 1-2 เมตร แตกกิ่งตำใต้ผิวดินจำนวนมาก เป็นพุ่มแน่น ปลายกิ่งตั้งขึ้น กิ่งเปราะ ใบเป็นใบเดี่ยว มักมี 3 ใบต่อหนึ่งข้อ เรียงตรงข้ามร ใบรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม สีเขียวเข้ม ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกช่อ 1-3 ดอก สีขาว ออกที่ปลายกิ่ง โคนกลีบดอกติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นกลีบจำนวนมาก ขอบกลีบเป็นคลื่น เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลาง 3- 4 เซนติเมตร ดอกบานอยู่ได้หลายวัน มีกลิ่นหอมตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ออกดอกตลอดปี
มะลิพิกุล หรือมะลิฉัตร ลักษณะต่าง ๆ คล้ายกับ 4 ชนิดแรก ใบคล้ายมะลิซ้อนและมีคลื่นเล็กน้อย ดอกเป็นช่อ 3 ดอกดอกซ้อนเป็นชั้น ๆ เห็นได้ชัด (คล้ายฉัตร) และดอกมีขนาดเล็กพอ ๆ กับดอกพิกุล ขนาดดอก 1-1.4 ซม. ดอกสีขาว กลิ่นหอม
มะลิทะเล เป็นไม้รอเลื้อย ดอกเป็นกระจุก ๆ หนึ่ง มี 5-6 ดอก กลิ่นหอมฉุน
มะลุลี มะลุลีเป็นพันธุ์ไม้สกุลเดียวกับมะลิอีกชนิดหนึ่งที่มีดอกหอม มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น มะลิพวง มะลิเลื้อย มะลิซ่อม เป็นไม้รอเลื้อยกระจายพันธุ์อยู่ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กิ่งอ่อนและกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนมีขนเห็นเด่นชัดเช่นกัน ใบและรูปแบบตลอดจนการจัดเรียง คล้ายมะลิอื่น ๆ แต่ใบมีขนเห็นเด่นชัด เป็นใบเดี่ยว รูปไข่ ปลายใบแหลม ใบดกมาก จะออกดอกมากเป็นพิเศษประมาณ เดือนกุมภาพันธ์ จึงปลูกคลุมซุ้มไม้ได้ดี ดอกเป็นช่อ แน่นตามปลายกิ่งและซอกใบ มีสีขาว แต่ละช่อมีมากกว่า 10 ดอกขึ้นไป จึงเห็นเป็นช่อใหญ่สวยงาม มีขนนุ่มๆ โดยเฉพาะที่กลีบเลี้ยงซึ่งเป็นแฉกแหลมๆ ลักษณะของดอกคล้ายมะลิลา แต่กลีบแคบยาวและปลายแหลมกว่า ขนาด เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 2.5-3 ซม. ใช้ทั้งช่อเป็นดอกไม้บูชาพระ กลิ่นหอมตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน คล้ายกลิ่นมะลิวัลย์
มะลิเลื้อย ลำต้นเลื้อยไปตามพื้นดินยาวประมาณ 1 ฟุต ใบเล็กกว่าพันธุ์อื่นมาก
มะลิวัลย์หรือมะลิป่า เป็นไม้เลื้อย ลำเถาเล็กเกลี้ยง ใบเดี่ยว รูปรี ปลายแหลม ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ดอกเป็นช่อเล็กเพียง 1-2 ดอก ตรงซอกใบ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอก 2-3 ซม. กลีบแคบและเรียวแหลม ดอกมีกลิ่นหอมแต่ร่วงเร็ว ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง หรือปักชำกิ่ง ปลูกตามซุ้ม หรือพันรั้วก็ได้ มะลิวัลย์ชนิดนี้มีลำเถายาวและเลื้อยพันได้เป็นระยะทางไกลๆ แต่ดอกไม่ดก จึงไม่เป็นที่สะดุดตาเหมือนมะลิป่าชนิดอื่นๆ
พุทธิชาติ เป็นไม้รอเลื้อย ใบเป็นใบเดี่ยวแต่ใบด้านล่างลดขนาดลงมากจนมีลักษณะคล้ายหูใบ ดอกเป็นช่อ ออกที่ปลายกิ่งและข้างกิ่ง ดอกสีขาว ปลายกลีบมน ก้านดอกยาว
ปันหยี ต้นเป็นไม้เลื้อยเช่นเดียวกับมะลิวัลย์ ใบเดี่ยว การออกของใบเช่นเดียวกันแต่ใบมีขนาดใหญ่กว่า ใบเป็นมันสีเขียวเข้มหนาและแข็ง ดอกเป็นดอกช่อ สีขาวกลีบดอกใหย่กว่ามะลิวัลย์ กลีบดอกกว้างและมน ดอกชั้นเดียว ขนาดดอก 4-4.5 ซม. กลิ่นไม่หอม
เครือไส้ไก่ ไม้เถา ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ใบรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือกลม ดอกช่อแบบช่อแยกแขนง กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอก โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น 5 แฉก สีขาว มีกลิ่นหอม ผลสด รูปทรงกลมหรือรี ผลสุกสีดำ
อ้อยแสนสวย เป็นไม้เลื้อย กิ่งอ่อนสีม่วงแดง ไม่มีขน กิ่งแก่สีน้ำตาล ใบเดี่ยว ขนาดใหญ่ก้านใบสีม่วง ดอกออกเป็นช่อมี 8 ดอก ดอกกลางบานก่อน ก้านดอกยาว กลีบดอกขาว ชั้นเดียวปลายกลีบมน
มะลิเขี้ยวงูเป็นไม้เลื้อย แตกกิ่งก้านมาก ไม่มีขน ใบออกเป็นช่อคล้ายใบแก้ว แต่บางกว่า ดอกออกเป็นช่อมี 3 ดอก ก้านดอกเป็นหลอดสีแดงอมม่วง กลีบดอกขาว กลิ่นหอมจัด
ประโยชน์
มะลินอกจากจะเก็บดอกมาร้อยเป็นพวงมาลัย ทำเป็นดอกไม้แห้ง หรือนำมาสกัดทำน้ำมันหอมระเหยแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง และในดอกมะลิมีส่วนที่เป็นน้ำมันอยู่ 0.2-0.3% ดอกมีรสเผ็ด หวาน ฤทธิ์อุ่น ส่วนรากมีรสขม ฤทธิ์อุ่น มีพิษ ดอก มีสรรพคุณแก้อาการท้องร่วง ตาแดง ราก เป็นยาแก้ปวด ทำให้ชา ฟันผุ ฟกช้ำ นอนไม่หลับ
สรรพคุณ
เยื่อตาขาวอักเสบ หรือตาแดง : ดอกมะลิสดล้างให้สะอาด ต้มจนเดือด สักครู่ นำน้ำที่ได้ใช้ล้างตา
ปวดกระดูก ปวดกล้ามเอ็น : รากมะลิสดทุบให้แหลกคั่วกับเหล้าจนร้อน ใช้พอกบริเวณที่ปวด
ปวดฟันผุ : รากมะลิตากแห้งบดเป็นผง ผสมกับไข่แดงที่ต้มสุกแล้วจนได้ยาเหนียวข้น ใส่ในรูฟันผุ
ข้อควรระวังอย่างหนึ่งคือ รากมะลิมีพิษ ไม่ควรใช้รับประทานหรืออาจใช้แต่น้อย เช่น ใช้รากมะลิสดไม่เกิน 1.5 กรัม ฝนกับน้ำใช้ดื่มแก้อาการนอนไม่หลับ
มะลิซ้อน ดอกสด ใช้รักษาโรคตาเจ็บ แก้ไข้ตัวร้อน แก้หวัด ดอกแห้ง ใช้ปรุงเป็นสารแต่งกลิ่น ใบสด นำมาตำให้ละเอียดจะช่วยรักษาแผลพุพองและแผลฝีดาษ ต้น ใช้รักษาโรคคุดทะราด ขับเสมหะและนำมาฝนใช้แก้ปวด รักษาโรคร้อนในและอาการเสียดท้องหิต ราก นำมาฝนใช้แก้ปวด รักษาโรคร้อนในและอาการเสียดท้องมะลิวัลย์ ราก ใช้เป็นยาถอนพิษต่าง ๆ ได้