วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประวัติฟ้อนเล็บ


ฟ้อนเล็บ
ฟ้อนเล็บ แต่เดิมเรียก “ฟ้อนเล็บ” ด้วยเห็นว่าเป็นการฟ้อนที่เป็นเอกลักษณ์ของ “คนเมือง” ซึ่งหมายถึงคนในถิ่นล้านนาที่มีเชื้อสายไทยวน และเนื่องจากการเป็นการแสดงที่มักปรากฏ ในขบวนแห่ครัวทานของวัดจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฟ้อนแห่ครัวทาน” ต่อมามีการสวมเล็บที่ทำด้วยทองเหลืองทั้ง 8 นิ้ว (ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ) จึงได้ชื่อว่า “ฟ้อนเล็บ”
ท่าฟ้อน
การฟ้อนชนิดนี้มีมาแต่ดั้งเดิม คณะศรัทธาของแต่ละวัดมักมีครูฝึกสืบทอดต่อกันมา เมื่อถึงฤดูกาลที่จะมีงานปอยหลวง ซึ่งเป็นงานฉลองศาสนสถาน มักมีการฝึกซ้อม เด็กสาวในหมู่บ้านเพื่อแสดงในงานดังกล่าวเสมอ โดยที่รูปแบบกระบวนและลีลาท่าฟ้อนไม่ได้กำหนดตายตัว แต่ละครูหรือแต่ละวัดอาจแตกต่างกันไป ในสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้มีการปรับปรุงและประดิษฐ์ท่าฟ้อนให้ดูอ่อนช้อยงดงามยิ่งขึ้น และบุคคล ผู้หนึ่งซึ่งเคยได้รับการถ่ายทอดจากคุ้มเจ้าหลวงได้แก่ ครูสัมพันธ์ โชตนา
ในโอกาสที่ครูสัมพันธ์ได้เข้าไปถ่ายทอดศิลปะการฟ้อนชนิดนี้แก่วิทยาลัย นาฏศิลปเชียงใหม่ ท่านได้กำหนดท่าฟ้อนไว้ 17 ท่าดังนี้1. จีบส่งหลัง 2. กลางอัมพร 3. บิดบัวบาน4. จีบสูงส่งหลัง 5. บัวชูฝัก 6. สะบัดจีบ7. กราย 8. ผาลาเพียงไหล่ 9. สอดสร้อย10. ยอดตอง 11. กินนรรำ 12. พรหมสี่หน้า13. กระต่ายต้องแร้ว 14. หย่อนมือ 15. จีบคู่งอแขน16. ตากปีก 17. วันทาบัวบานท่ารำต่างๆ ดังกล่าว อาจมีการเพิ่มท่า ตัดตอน หรือลำดับท่าก่อนหลังตามที่ครูจะกำหนด
เครื่องแต่งกาย
การแต่งกายแต่เดิมจะนุ่งผ้าซิ่น สวมเสื้อแขนยาวทรงกระบอกคอกลม หรือคอจีนผ่าอก เกล้าผมมวยโดยขมวดมวยด้านท้ายทอย ทัดดอกไม้ประเภทดอกเอื้อง จำปา กระดังงา หางหงส์ หรือลีลาวดี สวมเล็บทั้งแปดนิ้ว ต่อมามีการ ดัดแปลงให้สวยงามโดยประดับลูกไม้ หรือระบายที่คอเสื้อ ห่มสไบเฉียงจากบ่าซ้ายไปเอวขวาทับด้วยสังวาล ติดเข็มกลัด สวมกำไลข้อมือ กำไลเท้า เกล้าผมแบบญี่ปุ่น ทัดดอกไม้หรืออาจเพิ่มอุบะห้อยเพื่อความสวยงาม
เครื่องดนตรี เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบจังหวะในการฟ้อน จะใช้วงกลอง “ตึ่งโนง” ซึ่งประกอบด้วย1. กลองแอว 2. กลองตะหลดปด3. ฆ้องอุ้ย(ขนาดใหญ่) 4. ฆ้องโหย้ง(ขนาดกลาง)5. ฉาบใหญ่ 6. แนหน้อย7. แนหลวง
เพลงที่ใช้บรรเลง
สำหรับเพลงที่ใช้บรรเลง ก็แล้วแต่ผู้เป่าแนจะกำหนดอาจใช้เพลงแหย่ง เพลงเชียงแสน เพลงหริภุญชัยหรือลาวเสี่ยงเทียน แต่ส่วนใหญ่จะใช้เพลงแหย่งเพราะช่างฟ้อนคุ้นกับเพลงนี้มากกว่าเพลงอื่น
โอกาสที่แสดง
เดิมจะฟ้อนในงานฉลองสมโภช เพื่อนำขบวนทานหรือเป็นมหรสพในงาน ปัจจุบันมีการแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชม จึงมีปรากฏให้เห็นตามโรงแรม ห้องอาหารโดยทั่วไป
อนึ่งการฟ้อนในลักษณะเดียวกันนี้ ถ้าถอดเล็บออกและขณะที่ฟ้อนก็ถือเทียนไปด้วย เรียกว่า “ฟ้อนเทียน” การฟ้อนโดยลักษณาการนี้มีความเป็นมาว่าในสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี มีการแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินฯ เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2469 ในงานถวายพระกระยาหารค่ำ ณ พลับพลาที่ประทับ งานนี้พระราชชายาฯ ทรงให้ช่างฟ้อนเล็บถอดเล็บทองเหลืองออก แล้วให้ถือเทียนทั้งสองมือ เวลาออกไปฟ้อนก็จุดเทียนให้สว่าง การฟ้อนครั้งนั้นสวยงามเป็นที่ประทับใจ จึงเป็นต้นเหตุว่า หากมีการฟ้อนชนิดนี้ถ้าเป็นเวลากลางวันให้สวมเล็บแต่ถ้าเป็นกลางคืนให้ถือเทียน และการที่ฟ้อนเทียนนี่เองเป็นเหตุให้ใช้เพลง “ลาวเสี่ยงเทียน” ประกอบการฟ้อน
ความเป็นเอกลักษณ์
หากจะถามถึงความเป็นเอกลักษณ์ของฟ้อนเล็บแล้ว ถ้าจะตอบว่าคือท่าฟ้อน และการแต่งกายยังตอบไม่ได้ เต็มคำเพราะถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ค่อนข้างมาก หรือตอบว่าอยู่ที่เล็บก็ยังไม่ใช่เพราะการรำมโนราห์ ของภาคใต้ก็สวมเล็บ การฟ้อนผู้ไทของจังหวัดสกลนครก็สวมเล็บเช่นกัน แม้จะมีพู่ไหมพรมสีแดงตรงปลายเล็บก็ตาม และคำตอบที่น่าจะใกล้เคียงได้แก่ เครื่องดนตรีและเพลงประกอบการฟ้อน และที่น่าจะถูกต้องมากที่สุด เห็นจะได้แก่ ภาพรวมทั้งหมด เพราะใครพบเห็นฟ้อนชนิดนี้ที่ไหน ก็ต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นฟ้อนเล็บ ซึ่งเป็นการแสดงที่อ่อนช้อยงดงาม ตามแบบฉบับของคนเมืองชาวล้านนาโดยแท้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น